สิทธิประกันสังคมของคุณแม่ตั้งครรภ์และหลังคลอด

Script Writer
สิริพิชญ์ชนก คุณประเสริฐ, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-08
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การประกันสังคมเป็นมาตรการของรัฐในการจัดบริการด้านสวัสดิการสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ลูกจ้างอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ มีส่วนร่วมรับผิดชอบระบบประกันสุขภาพของตนและเป็นการรับประกันคุณภาพชีวิตที่ดีในขั้นพื้นฐานด้วยการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมซึ่งผู้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ การประกันการเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ สงเคราะห์บุตร และว่างงาน 

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “สิทธิของมารดา” นั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 48 บัญญัติว่า “สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตรย่อมได้รับความคุ้มครอง” จึงสอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งได้กำหนดรับรองสิทธิประโยชน์ของมารดาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งหลังคลอดบุตร ดังนี้ 

1. ประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร 
หลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ คือ ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร โดยพิจารณาแบ่งสิทธิประโยชน์ได้เป็นสองช่วงเวลา คือ ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด  ดังนี้ 

1.1 ค่าฝากครรภ์ มีวงเงินรวม 1,500 บาท เบิกได้ตามอายุครรภ์ ได้แก่ 

ฝากครรภ์ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เบิกได้สูงสุด 500 บาท

ฝากครรภ์ครั้งที่ 2 อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ - น้อยกว่า 20 สัปดาห์ เบิกได้สูงสุด 300 บาท

ฝากครรภ์ครั้งที่ 3 อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ - น้อยกว่า 26 สัปดาห์ เบิกได้สูงสุด 300 บาท

ฝากครรภ์ครั้งที่ 4 อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ - น้อยกว่า 32 สัปดาห์ เบิกได้สูงสุด 200 บาท

ฝากครรภ์ครั้งที่ 5 อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ - 40 สัปดาห์ เบิกได้สูงสุด 200 บาท

1.2 ค่าคลอดบุตร แบบเหมาจ่ายวงเงิน 15,000 บาท ต่อครั้ง
กองทุนประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 15,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน  ทั้งนี้ สำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน และกรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่จำกัดจำนวนบุตรต่อครั้ง

สำหรับกรณีแท้งบุตรผู้ประกันตนหญิงจะได้รับค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรได้ แต่ต้องมีอายุครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์ เนื่องจากการตั้งครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์ ไม่ว่าทารกจะมีชีวิตรอดหรือไม่ ถือเป็นกรณีคลอดบุตร

2. ประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร
 หลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ คือ ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน โดยจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน ซึ่งต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์นี้ โดยมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน กรณีผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์เช่นกัน

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนประเภทอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ จะมีหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมแตกต่างกันตามทางเลือกที่จ่ายค่าประกันสังคม (ทางเลือกที่ 1 จ่ายค่าประกันสังคมเดือนละ 70 บาท ทางเลือกที่ 2 จ่ายค่าประกันสังคม เดือนละ 100 บาท ทางเลือกที่ 3 จ่ายค่าประกันสังคมเดือนละ 300 บาท ในแต่ละทางเลือกจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นตามลำดับ) ซึ่งหากเลือกจ่ายทางเลือกที่ 3 คือ จ่ายค่าประกันสังคมเดือนละ 300 บาท จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยได้รับในส่วนของเงินสงเคราะห์บุตรเป็นรายเดือน เดือนละ 200 บาทต่อบุตรหนึ่งคน คราวละไม่เกิน 2 คน ตั้งแต่บุตรแรกเกิดแต่ไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์
 

ภาพปก