การรับรองแหล่งผลิต GAP พืช

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-08
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

จากกระแสผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญในด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร ประกอบกับปัจจุบันมีการแข่งขันด้านคุณภาพของสินค้าเกษตรสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยพัฒนาระบบการผลิต การตรวจสอบ และรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งผลิต และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้นำหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) มาเป็นแนวทางในการทำการเกษตรสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรประเภทพืช ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ   

การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในการผลิตพืช (GAP พืช) ได้ให้ความสำคัญในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การเตรียมพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การขนส่ง การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว และการจดบันทึกการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบได้ มีความปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค ตลอดจนมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งไม่เกิดมลพิษต่อสภาพแวดล้อม 

ทั้งนี้ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในการผลิตพืช (GAP พืช) เพื่อขอการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช มีข้อกำหนดหลัก 8 ประการ ดังนี้ 

  1. 1) น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องมาจากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อผลผลิต 
  2. 2) พื้นที่ปลูกไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุหรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลผลิต 
  3. 3) วัตถุอันตรายทางการเกษตรต้องจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ในสถานที่เก็บที่มิดชิดและใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร 
  4. 4) การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยวมีแผนควบคุมการผลิตเพื่อให้ผลผลิตคุณภาพโดยใช้หลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี 
  5. 5) การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว โดยเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีอายุเหมาะสม ผลผลิตมีคุณภาพตามความต้องการของตลาดและข้อตกลงของประเทศคู่ค้า 
  6. 6) การพักผลิตผล การขนย้ายในแปลงปลูกและเก็บรักษาผลผลิต มีการจัดการด้านสุขลักษณะเพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค 
  7. 7) สุขลักษณะส่วนบุคคล ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าใจในสุขลักษณะส่วนบุคคล เพื่อสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกสุขลักษณะ 
  8. 8) การบันทึกข้อมูลและการตามสอบ มีบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงาน การใช้สารเคมี ข้อมูลผู้รับซื้อ และปริมาณผลผลิตเพื่อประโยชน์ต่อการตามสอบ

โดยเกษตรกร นิติบุคคล กลุ่มเกษตรกรหรือองค์กร สามารถยื่นคำขอการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ได้ที่กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตในพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร หรือสำนักงานเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โดยต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแหล่งผลิต GAP พืชกำหนดไว้ เช่น เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในพื้นที่การผลิตหรือได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินจากหน่วยงานราชการและไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนใบรับรองจากกรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยรับรองใด ๆ ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าของกรมวิชาการเกษตร เว้นแต่พ้นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ถูกเพิกถอนใบรับรอง กรณีที่ผู้ยื่นคำขอการรับรองแหล่งผลิต GAP พืชเป็นเกษตรกร ต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ส่วนกรณีเป็นนิติบุคคลต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย เป็นต้น
    
เมื่อเกษตรกร นิติบุคคล กลุ่มเกษตรกรหรือองค์กร ผ่านการตรวจประเมินและได้รับใบรับรองแหล่งผลิตพืชแล้ว ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น ต้องรักษาระบบการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) ตลอดระยะเวลาที่ได้รับการรับรองและอ้างถึงการรับรองเฉพาะขอบข่ายที่ได้รับการรับรองเท่านั้น  อีกทั้งต้องไม่นำใบรับรองและเครื่องหมายรับรองไปใช้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อการรับรองหรือทำให้เสื่อมเสียต่อกรมวิชาการเกษตร เมื่อมีการลดขอบข่าย พักใช้ เพิกถอน หรือยกเลิกการรับรองให้ยุติการใช้สิ่งพิมพ์ สื่อโฆษณา และการอ้างอิงการได้รับการรับรองนั้นทั้งหมด หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อระบบการผลิตในสาระสำคัญให้ยื่นแบบคำขอที่เกี่ยวข้องต่อกรมวิชาการเกษตร เป็นต้น
    
การดำเนินงานการรับรองแหล่งผลิต GAP พืชที่ผ่านมาในปี  2565 มีแปลงพืชที่ได้รับการรับรองแล้ว 128,930 แปลง คลอบคลุมพื้นที่ 576,873 ไร่ ซึ่งการรับรองแหล่งผลิต GAP พืชจะส่งผลให้สินค้าเกษตรของไทยมีคุณภาพและเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันทางการค้าเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในตลาดโลก

ภาพปก