แม้ว่าในบางประเทศคริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน เช่น บิทคอยน์ จะได้รับอนุญาตให้เป็นสกุลเงินที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างประเทศ เอลซัลวาดอร์ แอฟริกากลาง แต่ด้วยคุณสมบัติของสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่สามารถจับต้องได้ แตกต่างจากธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ ซึ่งหากมีการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าหรือบริการจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ในการยืนยันการแลกเปลี่ยนเงินได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างสถาบันการเงินมาตรวจสอบความถูกต้อง และสามารถป้องกันการถูกโจรกรรมข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนสกุลเงินไม่ใช่เรื่องง่ายและมีข้อจำกัดหลายประการ จึงทำให้หลายประเทศมีข้อกังวลในการนำสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีไปใช้เชื่อมโยงกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด การฟอกเงิน การเผชิญความเสี่ยงมูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลที่มีความผันผวนสูง ไม่มีการระบุตัวตนและสินทรัพย์หนุนหลัง โดยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการลงทุนเพื่อการเก็งกำไร ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารกลางไม่สามารถควบคุมปริมาณเงินหรือสภาพคล่องของสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีได้ จึงไม่สามารถกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจ ในหลายประเทศจึงได้มีการศึกษา กำหนดแนวนโยบาย ตลอดจนได้มีการทดลองใช้สกุลเงินที่ออกโดยธนาคารกลางเอง หรือ CBDC ซึ่งย่อมาจาก Central Bank Digital Currency ที่มีคุณสมบัติไม่ต่างจากเงินสดทั่วไปและเป็นเงินของรัฐแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล สามารถใช้เป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงชำระหนี้ได้ตามกฎหมายต่างจากสกุลเงินดิจิทัลภาคเอกเชน โดยปัจจุบัน CBDC แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) การทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) เพื่อใช้ในการโอนชำระเงินระหว่างธนาคารและในกระบวนการชำระบัญชี และ 2) การทำธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC) เพื่อการใช้จ่ายหรือการชำระเงินของประชาชน ในปัจจุบันมีธนาคารกลางมากกว่า 110 แห่งทั่วโลก เริ่มพัฒนา CBDC เพื่อทดลองและนำมาปรับใช้กับประเทศของตน โดยจีนเป็นประเทศแรกที่มีการนำร่องใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางสำหรับประชาชน เรียกว่า “หยวนดิจิทัล” (e-CNY) ในเดือนเมษายน 2564 โดยมีการทดลองในเมืองใหญ่ อาทิ เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เฉิงตู คาดว่าในอนาคตจะมีการขยายพื้นที่การทดลองใช้งานเงินหยวนดิจิทัลตามมณฑลและเมืองต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังมีการนำเงินหยวนดิจิทัลมาอุดหนุนประชาชน โดยใช้วิธีจับสลาก ซึ่งสามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าออนไลน์และร้านค้าทั่วไป เพื่อกระตุ้นการบริโภคในเขตเศรษฐกิจของประเทศที่รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นอกจากนี้ ยังมีแผนจะนำ เงินหยวนดิจิทัลมาใช้ในการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ เงินสนับสนุนทางการคลัง รวมถึงการใช้จ่ายในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วย ส่วนธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ อยู่ในระดับขั้นตอนของการพัฒนา CBDC ดังนี้
สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นธนาคารกลางแรก ๆ ของโลก ที่มีการศึกษาทดลอง และพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลภายใต้ชื่อ "โครงการอินทนนท์" ระหว่างเดือนสิงหาคม 2561 - ธันวาคม 2562 มีขอบเขตการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) เพื่อหาช่องทางในการนำ CBDC มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและต่อยอดโครงการ แบ่งออกเป็น
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th