การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

Script Writer
อารุณี ชัยสุวรรณ์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ด้วยปัจจุบันระบบเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์แทบจะทุกด้าน ทั้งในการติดต่อสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม และการค้นคว้าหาข้อมูลต่าง ๆ โดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ต ดังนั้น หลายประเทศในโลกจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาประเทศโดยตลอด รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งด้านการให้บริการแก่ประชาชนและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การปฏิบัติราชการของหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่ ทั้งที่เป็นการติดต่อระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน การให้บริการประชาชน และการติดต่อระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน ยังคงเป็นการดำเนินการด้วยเอกสาร หนังสือราชการ และสิ่งพิมพ์ในลักษณะที่เป็นสำเนา และยังคงกำหนดให้ประชาชนต้องติดต่อราชการโดยการส่งเอกสารหรือยื่นคำร้องต่าง ๆ ทางไปรษณีย์ หรือด้วยตนเอง ณ ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐ ทำให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงาน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มเวลาของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปในการติดต่อราชการมากเกินสมควร นอกจากนี้ การติดต่อสื่อสารโดยใช้กระดาษยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่จำเป็น ซึ่งสาเหตุสำคัญที่หน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีข้อจำกัดในบทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับ 

คณะรัฐมนตรีจึงได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... โดยมีการบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ 21 ธันวาคม 2564 เพื่อพิจารณาในวาระที่ 1 รับหลักการ สำหรับวาระที่ 2 พิจารณาเรียงลำดับมาตรา และวาระที่ 3 การลงมติ ได้มีการพิจารณาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2565 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติฯ จึงได้มีการประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 โดยพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มุ่งประสงค์ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐในฝ่ายบริหารเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐทุกหน่วย ดังนั้น หน่วยงานต่าง ๆ จึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ในกรณีที่หน่วยงานที่ได้รับยกเว้นที่มิใช่รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด มีความพร้อมและประสงค์จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน สามารถเสนอให้มีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ โดยจะกำหนดให้ใช้แก่หน่วยงานนั้นทั้งหมดหรือเฉพาะบางหน่วยงานย่อยภายในก็ได้ หรือจะกำหนดให้ใช้แก่งานเพียงบางประเภทของหน่วยงานนั้นก็ได้

พระราชบัญญัตินี้ให้สิทธิแก่ประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสัญชาติไทยหรือสัญชาติอื่น และไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ต่างก็สามารถยื่นคำขอ ส่งหนังสือ ข้อมูล หรือรายงาน ติดต่อหรือแสดงเอกสารหลักฐานต่อหน่วยงานของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ อีกทั้งยังได้กำหนดขอบเขตแห่งสิทธิแก่ประชาชนในการยื่นคำขอหรือติดต่อราชการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างกว้างขวางมาก ตั้งแต่การขอรับใบอนุญาต ขออนุมัติ ขอจดทะเบียน ขอขึ้นทะเบียน ขอแจ้ง ขอจดแจ้ง ขออาชญาบัตร ขอการรับรอง ขอความเห็นชอบ ขอความเห็น ขอให้พิจารณา ขออุทธรณ์ ร้องทุกข์ หรือร้องเรียน ขอให้ดำเนินการ ขอรับเงิน ขอรับสวัสดิการ และขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ จึงเห็นได้ว่าพระราชบัญญัตินี้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ประชาชนติดต่อกับรัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แทบทุกกรณี ยกเว้นกรณีที่ไม่เข้าข่ายโดยชัดแจ้งเท่านั้น เช่น การขอประทานบัตร

พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เป็นกฎหมายกลางที่มีวัตถุประสงค์หลักในการขจัดปัญหาและอุปสรรคทางข้อกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถยื่นคำขอหรือติดต่อใด ๆ กับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมตลอดทั้งการติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันสามารถทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้น ยังมุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชนและการปฏิบัติหน้าที่ราชการของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ครอบคลุมตลอดทั้งระบบ ตั้งแต่การยื่นเรื่องหรือรับเรื่อง การติดต่อราชการ การส่งหรือรับเอกสาร การแสดงเอกสารหลักฐาน ไปจนถึงการจัดทำและตรวจสอบฐานข้อมูลใบอนุญาต และการจัดเก็บเอกสารราชการ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพแก่การปฏิบัติราชการของภาครัฐอีกด้วย

ภาพปก