ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) กับการสร้างความสามารถในการแข่งขันของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการส่งเสริมให้แต่ละท้องถิ่นเกิดการสร้างสรรค์ผลงานลักษณะพลังศรัทธา (soft power) เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานในแต่ละท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ในรอบหลายปีที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนต่างได้มีการส่งเสริมให้แต่ละท้องถิ่นของประเทศไทยมีการเผยแพร่โฆษณามรดกวัฒนธรรม เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นเกิดรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะภายหลังจากการเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ภาคประชาชนเกิดการจับจ่ายใช้สอย สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนตามแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่ต่าง ๆ
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่า soft power ในมุมมองของนายกราชบัณฑิตยสภา ซึ่งได้ทำการสรุปคำว่า soft power ไว้ว่า ให้หมายความถึง พลังศรัทธา เป็นการใช้ความนิยมชื่นชอบ เป็นวิถีในการชนะใจหรือโน้มน้าวใจผู้อื่นจนเกิดศรัทธาและปฏิบัติตามโดยพลังศรัทธา
ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างพลังศรัทธา (soft power) ให้เกิดประโยชน์จากแหล่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ กอปรกับมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 ได้กำหนดไว้ว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการส่งเสริมและรักษาต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 7 ลักษณะดังกล่าวนั้นมีส่วนสำคัญในการสร้างพลังศรัทธา (soft power) ด้วยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าของชิ้นงานก่อให้เกิดมูลค่าทางพลังศรัทธา ส่งผลทำให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ใช้โอกาสสำคัญในการใช้เวที APEC THAILAND 2022 ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เพื่อแสดงให้เห็นว่าความสำคัญของการใช้พลังศรัทธา (soft power) เพื่อก่อให้เกิดการสร้างรายได้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในเชิงด้านมรดกภูมิปัญญา โดยกระทรวงวัฒนธรรมและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้เวทีดังกล่าวเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกิดการค้า การลงทุนและมีการนำเสนอการแสดงทางวัฒนธรรมไทยด้านพลังศรัทธา (soft power) เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีต่อกัน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง จากการแสดงตามแนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open Connect Balance) โดยมีการบรรเลงบทเพลงจากวงดุริยางค์ของสี่เหล่าทัพ พร้อมวงดนตรีไทยร่วมสมัยของกรมศิลปากร รวมทั้งนักร้องที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยหลายท่านร่วมกันขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ บทเพลงไทย เพลงสากลและเพลงร่วมสมัย พร้อมกับได้นำเสนอการแสดง 4 ภาคของประเทศไทย ที่นับว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น การฟ้อนร่ม หน้ากากผีตาโขน ฟ้อนภูไท เซิ้ง ถือบั้งไฟ เชิดพญานาค โนราห์ การแสดงโขน ศิลปะ การแสดงชั้นสูงของประเทศทำให้เวทีนี้มีความสง่างาม นอกจากนี้ มีการเชิญชวนให้ผู้นำประเทศหลายประเทศ เข้าร่วมในประเพณีลอยกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย ซึ่งสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพลังศรัทธา (soft power) ที่รัฐบาลไทยได้อาศัยเวที APEC THAILAND 2022ที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จด้วยดี ทำให้เกิดการประชาสัมพันธ์และมีการเผยแพร่การท่องเที่ยวของประเทศไทยผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ หลากหลายช่องทางในหลาย ๆ ประเทศ ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยภายใต้พลังศรัทธา (soft power) ที่รัฐบาลไทยได้นำมาใช้ในเวทีสำคัญดังกล่าว ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ทุเลาลงไปแล้ว ย่อมส่งผลดีต่อภาคท่องเที่ยวของประเทศไทยที่จะนำเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้กับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศได้อย่างยั่งยืน
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th