แผนการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง

Script Writer
ณิชชา บูรณสิงห์, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันภาคขนส่งมีสัดส่วนการใช้พลังงานสูงถึงร้อยละ 40 ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ โดยคิดเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งทางบกถึงร้อยละ 79 ของการใช้พลังงานในภาคขนส่ง ทั้งนี้ ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 มีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ใน พ.ศ. 2579 โดยมีมาตรการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง ซึ่งมีเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานถึง 30,213 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ใน พ.ศ. 2579  คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 58 โดยดำเนินการผ่านมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ประสิทธิภาพสูง กลุ่มที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในรถบรรทุกและรถโดยสาร ด้วยระบบจัดการและการจูงใจทางการเงิน

การผลิตและใช้พลังงานส่วนหนึ่งก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญและมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน โดยเฉพาะพลังงานในภาคขนส่ง เนื่องจากการเผาไหม้ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ สารพิษดังกล่าวทำให้เกิดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกส่งผลเกิดภาวะโลกร้อน สภาวการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก 

กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง โดยมีการปรับปรุงแผนอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 โดยนำแผนงานต่าง ๆ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว พ.ศ. 2558-2579 ของกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย 5 แผนย่อย คือ 1) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2) แผนอนุรักษ์พลังงาน 3) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 4) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และ 5) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ มีการจัดทำแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง แบ่งการจัดทำแผนฯ ออกเป็น 3 ระยะ คือ แผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งระยะสั้น พ.ศ. 2562-2564 แผนอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งระยะกลาง พ.ศ. 2565-2570 และแผนอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งระยะยาว พ.ศ. 2571-2579 โดยพัฒนาปรับปรุงแผนอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งปัจจุบันมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนและประชาชน โดยมีกรอบแผนอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง 4 แผนหลัก จาก 4 กลุ่มเป้าหมาย คือ การขนส่งทางถนน การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางอากาศ และการขนส่งทางราง นำไปสู่การจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง 4 แผนหลัก ประกอบด้วย 1) แผนอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางถนน 2) แผนอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางน้ำ 3) แผนอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางอากาศ และ 4) แผนอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางราง ให้สอดคล้องกับแผนงานต่าง ๆ ของประเทศเพื่อพัฒนาให้ภาคขนส่งมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานร่วมกับ 7 องค์กร ได้แก่ 
1) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 
2) ธนาคารแห่งประเทศไทย 
3) บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด 
4) บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด 
5) บริษัท เอ พี อาร์ โลจิซทิคซ จำกัด
6) บริษัท พิบูลย์คอนกรีต จำกัด 
7) บริษัท น้ำมันศรีพลัง จำกัด 
ร่วมกันประหยัดพลังงานนำร่องส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง ตั้งเป้าประหยัดได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้ การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจให้อนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งอย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินงานของ 7 องค์กรดังกล่าว จะเป็นหน่วยงานต้นแบบที่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานด้านการขนส่งในหน่วยงานของตนเอง ซึ่งสามารถใช้ในการกำกับดูแลควบคุมให้หน่วยงานมีการจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งอย่างยั่งยืนต่อไป และใน พ.ศ. 2566 กระทรวงพลังงานเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ดังนั้น แผนอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งจึงเป็นการกำหนดมาตรการและเป้าหมายที่ตอบสนองต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่ง และบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐจะมีแผนอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งแล้วก็ตาม แต่ทุกภาคส่วนยังคงต้องมีจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้พลังงานทุกชนิดอย่างรู้คุณค่า เพื่อลดการปล่อยก๊าซพิษต่าง ๆ และควรส่งเสริมใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะหรือรถไฟฟ้า ในการเดินทางที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง
สภาพภูมิอากาศโลกด้วย

ภาพปก