ระบบบำนาญของไทย

Script Writer
จันทมร สีหาบุญลี, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรของประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและได้กลายเป็นสังคมผู้สูงวัยเร็วกว่าที่คาดหมายไว้ สาเหตุเนื่องจากอัตราการเกิดหรือภาวะเจริญพันธ์ลดลง ประกอบกับประชากรสูงวัยมีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นจากการพัฒนาระบบสาธารณสุขพื้นฐาน โภชนาการ การศึกษา เศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ประชากรผู้สูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้นขณะที่อัตราการเกิดลดลง การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงวัยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรวัยแรงงานลดลงส่งผลต่อผลิตภาพการจ้างงานภายในประเทศ ข้อมูลในปี 2565 ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยซึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 11.8 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 66 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.9 และประเทศไทยได้ประกาศให้สังคมสูงวัยเป็นวาระแห่งชาติมาในปี 2561 โดยมีแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุครอบคลุมทั้งประชากรกลุ่มที่กำลังจะก้าวสู่ผู้สูงวัยในอนาคต ซึ่งมีจุดเน้น คือ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพด้วยการให้ความสำคัญกับการออม การปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับผู้สูงวัย รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติไม่ให้มองผู้สูงวัยเป็นภาระ สำหรับประชากรผู้สูงวัยซึ่งมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ได้มีการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงวัยในระยะยาวครอบคลุมผู้สูงวัยที่มีภาวะพึ่งพิงให้มากขึ้น โดยเน้นการเสริมทักษะให้แก่แรงงานผู้สูงวัย ออกแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นและสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างจ้างงานผู้สูงวัย จัดทำแผนบูรณาการด้านสุขภาพในระยะยาวทั้งที่บ้านและในชุมชนตามระดับความจำเป็นของกลุ่มผู้สูงวัย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับผู้สูงวัยและขับเคลื่อนมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ยังขาดระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและครอบคลุมกับประชากรผู้สูงวัยที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้น ระบบบำนาญจึงเป็นระบบสวัสดิการที่สำคัญสำหรับประชากรผู้กำลังก้าวสู่ผู้สูงวัยและผู้สูงวัยของไทย โดยระบบบำนาญเกิดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของผู้สูงวัย ให้มีรายได้สำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณ โดยระบบบำนาญที่ดีจะต้องให้ผลประโยชน์ที่เพียงพอต่อการครองชีพ อยู่ในความสามารถที่บุคคลและสังคมจะจ่ายได้และระบบบำนาญมีความยั่งยืนและแข็งแกร่ง คือ ระบบบำนาญมีผลครอบคลุมกลุ่มประชากรผู้สูงวัยทุกกลุ่มของสังคม สำหรับประเทศไทยมีระบบบำนาญอยู่ 2 ประเภท คือ 

  • 1) ระบบผู้จะรับสิทธิประโยชน์ไม่ต้องมีส่วนร่วมจ่ายเพราะแหล่งเงินมาจากงบประมาณของแผ่นดิน ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นและบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร 
  • 2) ระบบผู้รับสิทธิประโยชน์จะต้องร่วมจ่าย คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสังเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

ในปัจจุบันระบบบำนาญในรูปแบบของกองทุนที่มีความสำคัญต่อประชากรที่กำลังเข้าสู่ผู้สูงวัยและผู้สูงวัยของประเทศไทย คือ 

  1. 1) กองทุนประกันสังคม เป็นหลักประกันแก่ผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์ทดแทนเมื่อประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต รวมทั้งกรณีคลอดบุตร สังเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน กองทุนประกันสังคมเป็นการออมภาคบังคับแบบกำหนดวงเงินผลประโยชน์ที่จะได้รับแน่นอน
  2. 2) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการออมทรัพย์และจัดสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนถือเป็นระบบบำเหน็จบำนาญแบบผสม โดยข้าราชการจะได้รับเงินบำนาญจากกรมบัญชีกลางและผลประโยชน์ที่ได้จากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 
  3. 3) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีเงินใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุ โดยมีการสมทบเงินเข้ากองทุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 
  4. 4) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น ประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างสะสมและเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการออมภาคสมัครใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างเมื่อยามเกษียณหรือออกจากงาน 
  5. 5) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนสำหรับส่งเสริมการออมภาคสมัครใจให้กับลูกจ้างที่นายจ้างไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือลูกจ้างที่ต้องการจะออมเงินเพิ่ม กองทุนนี้ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนมีหน้าที่เสนอกองทุนรวมแบบต่าง ๆ โดยผู้ลงทุนสามารถกำหนดแบบการลงทุนหรือผู้จัดการกองทุนได้ด้วยตนเอง
  6. 6) กองทุนการออมแห่งชาติ แนวคิดสำคัญของกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระและไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐได้ออมเงิน เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อถึงวัยเกษียณ

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีระบบบำนาญด้วยการมีกองทุนที่หลากหลาย เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับรูปแบบของการใช้ชีวิตและการทำงานทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และส่วนบุคคล โดยกองทุนเหล่านี้จะเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการออม การประกันตน และการลงทุน เพื่อการดำรงชีพของประชากรก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่องบประมาณและการคลังของประเทศ ดังนั้น ประชากรทุกช่วงวัยจะต้องตระหนักรู้และแสวงหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับระบบบำนาญ โดยเฉพาะประชากรที่อยู่นอกระบบแรงงานควรจะมีแหล่งออมเงินเพื่อเก็บสะสมไว้เป็นทุนสำรองเลี้ยงชีพในยามเข้าสู่ผู้สูงวัย เช่น การเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ หรือเลือกสรรกองทุนเพื่อการออม การประกันตนหรือการลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุน เพื่อให้มีเงินทุนสำรองสำหรับดำรงชีพในยามเป็นผู้สูงวัย

ภาพปก