สถานการณ์โลมาสีชมพูในประเทศไทย

Script Writer
ธนพร อินพุ่ม, บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

โลมาสีชมพู หรือ โลมาหลังโหนก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sousa chinensis และมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น โลมาขาวเทา โลมาเผือก (Chinese white dolphin, Pacific humpback dolphin, Indo-Pacific humpbacked dolphin) จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ลักษณะทั่วไปมีรูปร่างหัวกลมมนมีปากเรียวยาว เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 2.2-2.8 เมตร ตัวเมียตัวจะเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย หนักประมาณ 150-230 กิโลกรัม อายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี โลมาสีชมพูชอบกินอาหาร ได้แก่ ปลาขนาดเล็ก ปลาหมึก และสัตว์พวกกุ้ง เคย ปู เป็นต้น เมื่อโลมาออกหาอาหาร จะใช้สัญญาณคลื่นเสียง และมักออกล่าเป็นกลุ่ม ถึงแม้ว่าโลมาสีชมพูจะเป็นสัตว์ที่รวมกลุ่ม แต่มีความดุร้ายได้เหมือนกัน และมักแยกตัวเองออกไปจากฝูง เมื่อต้องการหาอาหาร หรือต้องกินอาหาร

ลักษณะเด่นของโลมาสีชมพู คือส่วนหลังโหนกเป็นแนวยาว 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว จึงเรียกชื่อว่า โลมาหลังโหนก ส่วนสีชมพูที่บริเวณลำตัว จะมีสีแตกต่างกันตามช่วงอายุ วัยเด็กจะมีสีเทาดำ และจางลงเมื่อโตขึ้นตัวเต็มวัย พอเป็นวัยรุ่นจะเริ่มมีจุดสีเทาปนชมพูเกิดขึ้น บางตัวมีสีเทาประขาว แต่พออายุมากขึ้นจะมีสีออกขาวเผือก หรือสีชมพู บริเวณผิวด้านล่างจะเป็นจุด ๆ และมีสีที่สว่างกว่าด้านบน สีชมพูของโลมาไม่ได้มาจากเซลล์เม็ดสี แต่มาจากสีของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป

โลมาสีชมพูชอบอยู่บริเวณชายฝั่ง หรือบริเวณที่มีความลึกไม่เกิน 20 เมตร มักจะพบว่าเป็นชายฝั่งทะเลและมีป่าชายเลนอยู่ด้วยเสมอ ๆ แต่จะต้องอยู่ในบริเวณน้ำตื้นเท่านั้น โลมาสายพันธุ์นี้ชอบอาศัยประจำที่หรือมีการย้ายที่อพยพน้อยมากและอาศัยไม่ห่างจากชายฝั่งเกินระยะ 1 กิโลเมตร ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้โดยง่าย มักจะพบเห็นตั้งแต่ตอนเช้า ซึ่งจะอยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 10 ตัว ว่ายน้ำช้า ประมาณ 4.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะดำน้ำประมาณ 40-60 วินาที ก่อนโผล่ขึ้นมาหายใจ บางครั้งมีพฤติกรรมดุร้าย โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ล่าเข้ามาใกล้ และเป็นโลมาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาฝึกกันตามสวนน้ำหรือสถานที่แสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ในประเทศไทยกำหนดให้โลมาสีชมพูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

โลมาสีชมพู ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งทะเลขนอม นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนทะเลขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช จะต้องชมกิจกรรมโลมาสีชมพูสัตว์ประจำถิ่น ที่มักปรากฏตัวให้นักท่องเที่ยวได้เห็นอยู่เสมอ จึงจะได้ชื่อว่าถึงทะเลขนอมอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 ได้พบซากโลมาสีชมพู หรือ โลมาหลังโหนกลอยอยู่กลางทะเล หน้าอ่าวท้องกรวด อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช การเสียชีวิตของสัตว์ทะเลตัวหนึ่ง ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะโลมาสีชมพูเป็นสัญลักษณ์สำคัญของทะเลขนอมมาช้านาน และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ต้องการเห็นโลมาตามธรรมชาติในประเทศไทย นอกจากนี้ จากสถิติที่ทำการบันทึกพบว่า ในปี 2558 มีโลมาสีชมพูเสียชีวิตในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 10 ตัว ส่วนในปี 2559 มีการเสียชีวิตเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 7 ตัว ขณะที่ปี 2560 ยังไม่ทราบว่าตัวเลขที่ชัดเจน สิ่งที่สะท้อนจากกรณีดังกล่าวคือ การประมงที่ขาดการควบคุมอย่างจริงจังจากภาครัฐ และกลไกในการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่จะร่วมมือกับภาครัฐยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทั้งที่โดยหลักการแล้วการดูแลทรัพยากรเหล่านี้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมาย

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จังหวัดสตูล ได้มีการโพสต์ภาพโลมาสีชมพู หรือโลมาหลังโหนก บริเวณหาดกาสิงห์ บ้านบ่อเจ็ดลูก จังหวัดสตูล ภาพที่ปรากฏเหมือนโลมาสีชมพูออกมาต้อนรับการกลับมาเปิดการท่องเที่ยวและให้พักแรมของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราอีกครั้ง

วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง รายงานผลการสำรวจและตรวจสุขภาพสัตว์ทะเลหายากพื้นที่ชายฝั่ง จังหวัดนครศรีธรรมราช พบสัตว์ทะเลหายาก 1 ชนิด ได้แก่ โลมาสีชมพู หรือโลมาหลังโหนก ประมาณ 13 ตัว บริเวณอ่าวปากพนังตอนใน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จากการตรวจสุขภาพพบว่าโลมามีร่างกายสมบูรณ์ ส่วนลูกโลมามีรอยฟันที่เรียกว่า rake mark ซึ่งเป็นร่องรอยปกติที่เกิดจากพฤติกรรมแบบฝูง

วันที่ 12 สิงหาคม 2565  เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดปัตตานี ตรวจพบฝูงปลาโลมาสีชมพู และสีดำชนิดโลมาหลังโหนก หลังออกตรวจบริเวณปากร่องน้ำปัตตานี แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของทะเลปัตตานี และวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง ได้มีภาพถ่ายโลมาหลังโหนก หรือโลมาสีชมพู ที่พบบริเวณปากคลองทรายดำซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง จำนวน 2 ตัว กำลังหาอาหารตามแนวชายฝั่ง การที่โลมาสีชมพูมาหากินตามแนวชายฝั่งในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง คาดว่าต่อไป อาจเป็นที่อยู่อาศัยประจำอีกแห่งหนึ่ง แสดงถึงความสมบูรณ์ของท้องทะเลแห่งนี้

โลมาสีชมพูถูกจัดให้เป็นสัตว์ประเภทมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ จึงเป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เนื่องจากโลมาสีชมพูเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ที่เข้ามาชมโลมา ปัจจุบันสถานการณ์โลมาสีชมพูในประเทศไทย ซึ่งจัดว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากปริมาณโลมาซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้นภาครัฐควรกำหนดนโยบายส่งเสริมความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ และจัดสรรงบประมาณในการสร้างพื้นที่อนุรักษ์โดยตรง ขณะเดียวกันชุมชนควรจะจัดการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยไม่ทิ้งขยะลงทะเล ไม่ขับเรือเข้าใกล้โลมาเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุซึ่งจะช่วยให้ปริมาณโลมาเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดการดูแลระบบนิเวศของท้องทะเลไทยอย่างเป็นรูปธรรม
 

ภาพปก