การรับรองสถานภาพปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

กาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) เป็นโรคร้ายแรงในสัตว์ตระกูลม้า ลา ล่อ และม้าลาย ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส (African Horse Sickness Virus: AHSV) โดยมีแมลงดูดเลือด เช่น ริ้น เหลือบเป็นพาหะนำโรค และสัตว์ที่ติดเชื้อจะแสดงอาการได้ 4 รูปแบบ คือ 1) แบบไม่รุนแรง สัตว์จะมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร บวมน้ำบริเวณขมับ เยื่อเมือกมีจุดเลือดออก และหัวใจเต้นเร็ว สัตว์ที่ป่วยแบบไม่รุนแรงมักหายจากอาการป่วยได้ 2) แบบเฉียบพลัน สัตว์จะแสดงอาการทั้งทางระบบทางเดินหายใจและมีภาวะบวมน้ำ 3) แบบกึ่งเฉียบพลัน สัตว์จะมีไข้ และมีอาการบวมน้ำบริเวณขมับ เปลือกตา แก้ม ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณขากรรไกร คอ ไหล่ และหน้าอก แต่ไม่พบอาการบวมน้ำที่ส่วนล่างของลำตัว รวมถึงมีอาการซึม เสียดท้อง มีจุดเลือดออกบริเวณลิ้น และเยื่อบุตา สัตว์จะตายจากภาวะหัวใจล้มเหลว หากสัตว์หายป่วยอาการบวมน้ำจะลดลง และ 4) แบบเฉียบพลันรุนแรง สัตว์จะมีไข้สูง แสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง หายใจลำบาก ไอ มีน้ำมูกเป็นฟอง และตายภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากแสดงอาการ โดยความรุนแรงของการก่อโรคจากเชื้อไวรัส (African Horse Sickness Virus: AHSV) จะแตกต่างกันตามชนิดสัตว์ ซึ่งม้าเป็นสัตว์ที่มีความไวต่อการเกิดโรคเมื่อติดเชื้อจะมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 95 ส่วนล่อและลามีอัตราการตายถึงร้อยละ 80 และร้อยละ 10 ตามลำดับ ขณะที่ม้าลายมีความทนทานต่อโรคสูงเมื่อติดเชื้อจะไม่แสดงอาการของโรคและอาจเป็นแหล่งรังโรคในการแพร่เชื้อต่อไป

กาฬโรคแอฟริกาในม้าระบาดครั้งแรกในทะเลทรายซาฮาร่า ทวีปแอฟริกา และได้แพร่กระจายไปในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อียิปต์ สเปน โปรตุเกส โมร็อกโก ปากีสถาน อินเดีย และมีรายงานพบกาฬโรคแอฟริกาในม้าที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 และพบการระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ทำให้มีจำนวนสัตว์ป่วยสะสม 610 ตัว ตายสะสม 568 ตัว ในพื้นที่ 17 จังหวัด จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อผู้เลี้ยงม้าและวงการม้าเป็นอย่างมากทั้งด้านคุณภาพม้า มูลค่าทางใจของเจ้าของม้าและผู้เลี้ยง มูลค่าทางเศรษฐกิจของม้าแข่งและกีฬาม้าในประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมและป้องกันโรคระบาดในระดับนานาชาติ 

จากการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าขณะนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีการติดตามสถานการณ์และตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระบาดกาฬโรคแอฟริกาในม้าและการป้องกันการแพร่ระบาดสู่คน เพื่อขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานว่าโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในสัตว์ประเภท ม้า ลา ล่อ ม้าลาย และอูฐเท่านั้น และไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน สำหรับมาตรการในการดำเนินงานได้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามแผนปฏิบัติการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าซึ่งกำหนดเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะเผชิญเหตุ ระยะที่ 2 ระยะเฝ้าระวังและป้องกันการอุบัติซ้ำ และระยะที่ 3 ระยะขอคืนสถานภาพและรับรองปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก
    
ทั้งนี้ หลังจากที่ประเทศไทยไม่มีรายงานพบสัตว์ป่วยติดเชื้อ (African Horse Sickness Virus) กรมปศุสัตว์จึงได้เร่งรัดการดำเนินการขอคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก โดยต้องยื่นหลักฐานแสดงการไม่พบสัตว์ป่วยติดเชื้อ (African Horse Sickness Virus) ในประเทศไทยเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี และไม่มีการใช้วัคซีน (African Horse Sickness: AHS) ในระยะเวลา 1 ปี รวมถึงการนำเข้าสัตว์ตระกูลม้า (Equids) ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การสุขภาพสัตว์โลก ซึ่งหน่วยงานกรมปศุสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาขี่ม้าในประเทศไทย และทุกหน่วยงานภาคีภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU) การกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทย ได้เตรียมพร้อมข้อมูลสำหรับขอคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก และต้องดำเนินการจัดทำเอกสารแฟ้มข้อมูล (Dossier) 7 บท (Chapter) ประกอบด้วย 1) บทนำ 2) ระบบทางสัตวแพทย์ของประเทศไทย 3) แผนการกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้า 4) การวินิจฉัยกาฬโรคแอฟริกาในม้า 5) แผนการเฝ้าระวังกาฬโรคแอฟริกาในม้า 6) การป้องกันกาฬโรคแอฟริกาในม้า และ 7) มาตรการควบคุมโรคและแผนการรับมือฉุกเฉิน โดยได้ยื่นเรื่องเพื่อขอคืนสถานภาพปลอดโรคอย่างเป็นทางการต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลกเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ต่อมาคณะกรรมาธิการสุขภาพสัตว์บกขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (Scientific Commission for Animal Disease) ได้พิจารณาเอกสารขอคืนสถานภาพปลอดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าและเห็นว่าประเทศไทยดำเนินมาตรการตามข้อกำหนด จึงได้พิจารณาคืนสถานภาพปลอดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าให้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ซึ่งได้ดำเนินการเผยแพร่บนเว็บไซต์ขององค์การสุขภาพสัตว์โลกแล้ว
    
การรับรองสถานภาพปลอดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าในประเทศไทย ส่งผลให้สามารถเคลื่อนย้ายม้าระหว่างประเทศได้ตามปกติ และส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออกม้า กิจกรรมการแข่งขันม้าในระดับประเทศและระดับนานาชาติ อันจะส่งผลดีต่อการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงม้า ผู้ประกอบการด้านกีฬาและการท่องเที่ยวต่อไป
 

ภาพปก