เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

Script Writer
วิชาญ ทรายอ่อน, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนเด็กมากกว่าสองล้านคนอยู่ในครอบครัวที่ยากจน คิดเป็นร้อยละ 21.5 หรือ 1 ใน 5 ของเด็กไทยประสบปัญหาความยากจนหลายมิติ เด็กกลุ่มดังกล่าวอาจไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากโอกาสและทรัพยากรที่จำกัด ทำให้ส่งผลต่ออนาคตตัวเด็กและต่ออนาคตของทุนมนุษย์และทุนทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ จากการวิจัยพบว่าการลงทุนในเด็กปฐมวัยช่วยเพิ่มศักยภาพที่สามารถหยุดการส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นได้มากขึ้น และการดำเนินนโยบายสำหรับเด็กในช่วงปฐมวัยจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า เมื่อเทียบกับการดำเนินนโยบายสำหรับช่วงวัยอื่น ๆ 
        
กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงดำเนินโครงการ “เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนครอบครัวให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของเด็กกลุ่มเปราะบางที่สุดของประเทศไทย และส่งเสริมการเข้าถึงบริการหลักในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัยและพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ หยุดความยากจนที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นการจัดสวัสดิการในรูปแบบเงินสดที่ให้โดยไม่มีเงื่อนไข และผู้ได้รับประโยชน์ไม่ต้องจ่ายสมทบ โดยเริ่มโครงการดังกล่าวในปี พ.ศ. 2558 ในระยะแรกเริ่มโครงการนั้น ได้กำหนดเกณฑ์รายได้ของพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กผู้มีสิทธิได้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเฉลี่ย 36,000 บาทต่อปี โดยกำหนดเกณฑ์อายุเด็ก 0-1 ปี ได้รับเงินเดือนละ 400 บาทต่อคน ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 ได้ขยายสิทธิอายุเด็กเป็น 0-3 ปี และเพิ่มเงินเป็นเดือนละ 600 บาทต่อคน และในปี พ.ศ. 2562 ได้เพิ่มและขยายเกณฑ์อีกครั้ง โดยได้ขยายเกณฑ์อายุเด็กเป็น 0-6 ปี และขยายเกณฑ์รายได้ของพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กผู้มีสิทธิเฉลี่ย 100,000 บาทต่อปี

จากข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่ามีเด็กจำนวน 2,297,969 คน ที่ได้รับเงินอุดหนุน 600 บาทต่อคนทุกเดือนคิดเป็นเงินจำนวน 1,437,844,800 บาท แม้จะไม่ครอบคลุมเด็กทุกคน แต่การดำเนินนโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะลดปัญหาเด็กยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของชาติ นโยบายเงินอุดหนุนฯ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580) การมุ่งมั่นพัฒนานโยบายดังกล่าว โดยการขยายฐานอายุเด็ก และเพิ่มจำนวนเงินที่เด็กได้รับ ตลอดจนขยายเกณฑ์รายได้เฉลี่ยของพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กผู้มีสิทธิ ช่วยเสริมให้โครงการเงินอุดหนุนฯ ดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็งขึ้น 

แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดยังมีปัญหาและอุปสรรคบางประการที่ต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขอีกมาก โดยพบว่ามีพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กผู้มีสิทธิ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนฯ มีมากถึงร้อยละ 30 หมายความว่าจะมีเด็ก 30 คน จาก 100 คนที่ควรจะได้รับเงินอุดหนุนฯ แต่กลับไม่ได้รับ เนื่องมาจากการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ครอบคลุมและละเอียดอย่างเพียงพอ โดยมีอุปสรรคในการเข้ารับสิทธิของโครงการ เช่น ความสับสนในขั้นตอนการรับสิทธิ และการลงทะเบียน ความซับซ้อนของกระบวนการรับรองสถานะความยากจน ครอบครัวที่ยากจนบางครอบครัวไม่มีบัญชีธนาคารหรือไม่สามารถเข้าถึงบริการเครื่องกดเงินอัตโนมัติ เอกสารทางราชการไม่ครบถ้วน และบางครอบครัวอยู่ห่างไกลประสบปัญหาในการเดินทางมาติดต่อ เป็นต้น
        
นโยบายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นโครงการที่ทุกรัฐบาลควรให้สนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเพียงพอ เพื่อสร้างโอกาส และขยายสิทธิของเด็กที่ไปสู่เด็กไทยทุกคนที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ให้ได้รับเงินอุดหนุนฯ ถ้วนหน้า เพื่อให้เด็กได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ร่วมกันในสังคมโดยข้ามผ่านความเหลื่อมล้ำทางสังคมอีกด้วย
 

ภาพปก