กรุงเทพมหานครเมืองหลวงสตรีทฟู้ด

Script Writer
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

สตรีทฟู้ด (Street Food) หรือที่เรียกกันว่า “ร้านอาหารริมถนนหรือริมทาง” จัดเป็นอาหารจานด่วนที่พร้อมรับประทานเช่นเดียวกับฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) แต่สตรีทฟู้ดจะนิยมขายตามริมถนนหรือบนพื้นที่สาธารณะ มีทั้งเป็นแบบซุ้มอาหาร รถเข็น หรือแม้แต่ร้านค้าหาบเร่แผงลอย ซึ่ง Bangkok Street Food เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกล่าวถึง โดยนักท่องเที่ยวไม่ต้องเดินลัดเลาะ สืบเสาะ หาร้านอร่อยให้ยุ่งยาก เพราะแทบทุกเวลาและทุกสถานที่ในกรุงเทพมหานคร ล้วนมีสตรีทฟู้ดตั้งขายให้เลือกรับประทานได้อย่างง่ายดายด้วยอาหารนานาชนิดและราคาที่ย่อมเยา เมื่อเปรียบเทียบกับภัตตาคารหรือโรงแรมบางแห่ง จึงไม่เป็นเรื่องที่แปลกถ้าสตรีทฟู้ดของประเทศไทยจะได้รับความนิยม จนทำให้กรุงเทพมหานครได้รับการจัดอันดับจากสภาอาหารริมทางโลก (World Street Food Congress) ยกให้สตรีทฟู้ดของประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่ขึ้นชื่อมากที่สุด อีกทั้ง สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ยังยกให้กรุงเทพมหานคร เป็น 1 ใน 23 เมืองทั่วโลกที่มีอาหารริมทางดีที่สุดในโลกถึง 2 ปีซ้อน และข้อมูลจาก Euromonitor International บริษัทวิจัยตลาดอาหารโลก ประเมินว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา สตรีทฟู้ดในประเทศไทยสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 271,355 ล้านบาท และได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก

ต่อมาในปี 2562 รัฐบาลที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน ในโครงการที่มีชื่อว่า “กรุงเทพมหานครเมืองหลวงสตรีทฟู้ด” โดยให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการถนนคนเดิน (Walking Street) โดยคงเอกลักษณ์ของเมืองหลวงแห่งร้านอาหารริมถนนที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม ดังนี้

  1. 1. ทบทวนรูปแบบและมาตรฐานหาบเร่แผงลอย โดยการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ทางเท้ามีความสะดวก ปลอดภัย ไม่กระทบต่อการจราจร และยังคงเอกลักษณ์ของเมืองหลวงแห่งร้านอาหารริมถนน โดยจัดระเบียบผู้ค้าในจุดผ่อนผัน จำนวน 171 จุด ในพื้นที่ 18 สำนักงานเขต จำนวนผู้ค้า 7,922 ราย 
  2. 2. ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจกรุงเทพมหานครตามโครงการ ถนนคนเดิน (Walking Street) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รัฐบาลได้อำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคหลากหลายประเภทจากผู้ค้าหรือผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดสรรผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) และของดี 50 เขตทั่วกรุงเทพมหานคร โดยได้จัดงานดังกล่าว 2 ครั้ง มีร้านค้าเข้าร่วมประมาณ 243 ร้าน และมียอดจำหน่ายสินค้าประมาณ 18 ล้านบาท

ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รัฐบาลได้กำหนดปฏิทินการจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ได้ชะลอการดำเนินการออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19)    

ต่อมาในปี 2564-ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ลดลง ได้แก่ 

  1. 1. จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย โดยได้ประกาศกำหนดให้ที่สาธารณะเป็นพื้นที่ทำการค้า 4 จุด ได้แก่ ถนนข้าวสาร ซอย 69 ถนนพระรามที่ 2 ซอยอารีย์ 1 และที่ว่างปากซอยอ่อนนุช 70 และผ่อนผันให้ผู้ค้ารายเดิมทำการค้าในจุดผ่อนผันที่ยังไม่ได้ยกเลิก จำนวน 85 จุด นอกจากนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 สามารถทำการค้าภายในตลาดที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร จำนวน 13 แห่ง 
  2. 2. ส่งเสริมการท่องเที่ยวสตรีทฟู้ด โดยปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และยังคงเอกลักษณ์เมืองหลวงแห่งร้านอาหารริมทางเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว เช่น ย่านบางลำพู เขตพระนคร และบริเวณซอยวังหลัง เขตบางกอกน้อย นอกจากนี้ ได้ดำเนินโครงการถนนคนเดินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ค้าในหลายพื้นที่ เช่น ถนนข้าวสาร ถนนเยาวราช ถนนสีลม คลองโอ่งอ่าง เป็นต้น 
  3. 3. พัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี ได้ส่งเสริมให้แผงลอยในแหล่งท่องเที่ยวย่านเยาวราช ถนนข้าวสาร ตลาดนางเลิ้ง และซอยอารีย์ ได้รับการพัฒนาให้มีการจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีที่สะอาดได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีผู้ค้าแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี มีการพัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานและได้รับป้ายย่านอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร จำนวน 203 ราย จากทั้งหมด 226 ราย (ร้อยละ 89.82) และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีผู้ผ่านเกณฑ์และได้รับป้ายย่านอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร จำนวน 59 ราย จากทั้งหมด 109 ราย (ร้อยละ 54.13)

กรุงเทพมหานครเมืองหลวงสตรีทฟู้ดจึงกลายเป็นอีกหนึ่งจุดขายด้านการท่องเที่ยวที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ได้มาตรฐาน มีความสะอาด ปลอดภัย และลบภาพลักษณ์อาหารข้างทางที่มีวิธีการปรุงไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ เพื่อใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้หันมารับประทานเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยทำให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสวยงาม การจราจรมีความสะดวก และประชาชนผู้ใช้ทางเท้าก็มีความสะดวก ปลอดภัย รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด 19 ได้มีพื้นที่ทำมาหากิน ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
    
ดังนั้น สตรีทฟู้ดจึงไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้เป็นจำนวนมากให้กับประเทศเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองศิวิไลซ์มีชีวิตชีวายิ่งขึ้นอีกด้วย

ภาพปก