งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ

Script Writer
นรากร นันทไตรภพ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยมีการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าวให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ โดยกําหนดหลักเกณฑ์การนําคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศและหลักเกณฑ์การทํางานของคนต่างด้าว ตามพระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้มีการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เช่น เร่ขายสินค้า นวดแผนไทย และช่างทำผม เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามประกาศของกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 โดยกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำทั้งสิ้น 40 งาน แบ่งออกเป็น 

1) งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด จำนวน 27 งาน ตามบัญชีที่หนึ่ง ประกอบด้วย 

(1) งานแกะสลักไม้ 
(2) งานขับขี่ยานยนต์หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกลในประเทศ ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ หรืองานขับรถยก (Forklift) 
(3) งานขายทอดตลาด 
(4) งานเจียระไนหรือขัดเพชรหรือพลอย 
(5) งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย 
(6) งานทอผ้าด้วยมือ 
(7) งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง ไม้ไผ่ เยื่อไม้ไผ่ พืชหญ้า ขนไก่ ก้านทางมะพร้าว เส้นใย ลวด หรือวัสดุอื่น 
(8) งานทำกระดาษสาด้วยมือ 
(9) งานทำเครื่องเขิน 
(10) งานทำเครื่องดนตรีไทย 
(11) งานทำเครื่องถม 
(12) งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก 
(13) งานทำเครื่องลงหิน 
(14) งานทำตุ๊กตาไทย 
(15) งานทำบาตร 
(16) งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ 
(17) งานทำพระพุทธรูป 
(18) งานทำร่มกระดาษหรือผ้า 
(19) งานนายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้นงานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าหรือการลงทุนระหว่างประเทศ 
(20) งานนวดไทย 
(21) งานมวนบุหรี่ด้วยมือ 
(22) งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว 
(23) งานเร่ขายสินค้า 
(24) งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ 
(25) งานสาวหรือบิดเกลียวไหมด้วยมือ 
(26) งานเสมียนพนักงานหรือเลขานุการ
(27) งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี ยกเว้นงานดังต่อไปนี้ (ก) งานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการ และ(ข) งานให้ความช่วยเหลือหรือทำการแทนในการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ในกรณีที่กฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ข้อพิพาทที่พิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการนั้นมิใช่กฎหมายไทย

2) งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ตามบัญชีที่สอง ประกอบด้วย 
        
(1) งานควบคุม ตรวจสอบ ปฏิบัติงาน หรือให้บริการทางบัญชี ยกเว้นงานดังต่อไปนี้ (ก) งานตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว และ(ข) งานตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพัน โดยที่สภาวิชาชีพเป็นผู้ให้การรับรองคุณสมบัติ
(2) งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวกับงานให้คำปรึกษา งานวางโครงการงานออกแบบและคำนวณ งานควบคุมการก่อสร้าง หรือการผลิต งานพิจารณาตรวจสอบ งานอำนวยการใช้จัดระบบ วิจัย ทดสอบ ยกเว้นเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (MRA) รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวกับการให้บริการวิศวกรรมข้ามแดน หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร
(3) งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานศึกษาโครงการ งานออกแบบ งานบริหาร และอำนวยการก่อสร้าง งานตรวจสอบ หรืองานให้คำปรึกษา ยกเว้นเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมและวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียนด้านบริการสถาปัตยกรรม (MRA) รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวกับการให้บริการสถาปนิกข้ามแดนจากสภาสถาปนิก หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิก

3) งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง ตามบัญชีที่สาม ประกอบด้วย 

(1) งานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง 
(2) งานช่างก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานช่างก่อสร้างอาคาร
(3) งานทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม 
(4) งานทำมีด 
(5) งานทำรองเท้า 
(6) งานทำหมวก 
(7) งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย
(8) งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา
    
4) งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ ตามบัญชีที่สี่ ประกอบด้วย
(1) งานกรรมกร

(2) งานขายของหน้าร้าน

ทั้งนี้ พระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 8 วางหลักไว้ว่าห้ามคนต่างด้าวทํางานโดยไม่มีใบอนุญาตทํางานหรือทํางานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทําได้ หากมีการฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 8 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท พร้อมทั้งให้ส่งคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเร็วตามมาตรา 101 และตามมาตรา 9 ห้ามผู้ใดรับคนต่างด้าวทํางาน โดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทํางานหรือให้คนต่างด้าวทํางานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทําได้ หากมีการฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 9 ผู้รับคนต่างด้าวเข้าทำงานต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากมีการกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองแสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจําทั้งปรับ และห้ามผู้นั้นจ้างคนต่างด้าวทํางานเป็นเวลาสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษซึ่งเป็นไปตามมาตรา 102

ภาพปก