หุ่นยนต์ หรือ Robot หมายถึง เครื่องจักรกลอัตโนมัติทุกชนิดที่ออกแบบให้สามารถทำงานแทนมนุษย์ในงานบางประเภท โดยทำงานด้วยคำสั่งเดิมซ้ำ ๆ ในรูปแบบที่มีความซับซ้อนและยืดหยุ่นได้ดี สามารถถูกปรับเปลี่ยนโปรแกรมให้ทำงานได้หลากหลาย และอาจถูกติดตั้งด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence เรียกโดยย่อว่า AI ทำให้สามารถตัดสินใจเองได้ และเป็นระบบอัตโนมัติ ซึ่งหมายถึง ระบบหรือกลไกที่สามารถเริ่มทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยการทำงานตามโปรแกรมที่กำหนดไว้
สำหรับประเภทของหุ่นยนต์นั้น แยกตามเทคโนโลยีหลักในตัวหุ่นยนต์ จำแนกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
เมื่อกล่าวถึงหุ่นยนต์บริการ หรือ Service Robot แล้ว การเติบโตในการใช้งานหุ่นยนต์บริการทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีปัจจัยที่สนับสนุนหลัก ๆ คือ โครงสร้างประชากรโลกที่เปลี่ยนแปลง การขาดแคลนแรงงานทั้งที่มีฝีมือและไร้ฝีมือ เทคโนโลยีที่ดีขึ้นทำให้หุ่นยนต์มีรูปร่างลักษณะการทำงานที่ใช้งานง่าย และที่สำคัญที่สุด คือ ในเรื่องของราคาก็เป็นที่ยอมรับได้ของผู้ใช้งาน สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจและวิเคราะห์โดยทีมวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยีเนคเทค พบว่า ทิศทางการเติบโตของตลาดและอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บริการทั้งแบบมืออาชีพและสำหรับผู้บริโภคทั่วไปมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ประกอบการกลุ่มหุ่นยนต์ที่ใช้งานเฉพาะด้านการต้อนรับ การทำความสะอาด การขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในปี 2565 ที่ผ่านมา มีหุ่นยนต์บริการในกลุ่มด้านการต้อนรับ การทำความสะอาด การขนส่งและโลจิสติกส์อยู่ในประเทศประมาณ 1,660 ตัว มูลค่าตลาดประมาณ 400 ล้านบาท
ในปัจจุบันธุรกิจประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ได้เริ่มนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งประโยชน์ของหุ่นยนต์บริการนั้น ได้แก่ ช่วยลดต้นทุนในการปฏิบัติงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เป็นระบบและรวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดภาระงานของผู้ปฏิบัติงาน ทำให้สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้เสิร์ฟอาหาร ช่วยขนย้ายชิ้นงานหรือสินค้า และนำไปใช้งานทางด้านการแพทย์ เป็นต้น สำหรับข้อเสียของการใช้หุ่นยนต์บริการ คือ ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ทันที เพราะไม่มีการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้นอกเหนือจากโปรแกรมหรือข้อมูลที่กำหนดไว้ ไม่สามารถตอบสนองความรู้สึกหรืออารมณ์ของลูกค้าได้ ต้องมีข้อมูลที่ทันสมัยตลอดเวลาและเตรียมพร้อมรับค่าบำรุงรักษาที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงไม่สามารถสร้างงานใหม่หรือมีความคิดสร้างสรรค์ได้เอง
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทยในปัจจุบันได้เริ่มนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีประโยชน์ต่อระบบการผลิตสินค้า อีกทั้งแนวโน้มการเติบโตของตลาดในประเทศไทยยังเจริญเติบโตอีกมาก ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนแรงงานทั้งในระดับที่มีฝีมือและไม่มีฝีมือ ราคาหุ่นยนต์อยู่ในระดับที่ผู้ใช้งานยอมรับได้ สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร และปัจจัยด้านโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงวัยมากขึ้น มีจำนวนคนระดับใช้แรงงานหรือทำงานลดลง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายด้านการเติบโตของตลาดและการใช้งานในประเทศอีกพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ยังไม่พอเพียง มาตรการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการใช้งานยังไม่มากพอ รวมถึงบุคลากรผู้มีทักษะเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมยังมีความขาดแคลน เนื่องจากต้องใช้ทักษะหลากหลายสาขา และยังไม่มีมาตรฐานหรือข้อกำหนดรองรับเพื่อปกป้องและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน ดังนั้น หุ่นยนต์บริการนับว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนโลก คือ เป็นเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและสามารถเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจโลกได้
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th