การแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง

Script Writer
วิริยะ คล้ายแดง, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

เกษตรกรไทยเริ่มนำปุ๋ยเคมีมาใช้เมื่อ 70 กว่าปีที่ผ่านมา แม้ปุ๋ยเคมีมีราคาสูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์และหากใช้เป็นระยะเวลานานจะทำให้โครงสร้างดินจับตัวแน่นจนเนื้อดินเสียหาย เนื่องจากปุ๋ยเคมีใช้งานสะดวกและ   ให้ธาตุอาหารแก่พืชที่มากกว่าปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้ปุ๋ยเคมีเป็นที่นิยมของเกษตรกร จนปุ๋ยเคมีกลายเป็นปุ๋ยที่มีการใช้เป็นจำนวนมาก นับว่าปุ๋ยเคมีและอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีบทบาทและความสำคัญต่อภาคการเกษตรและเศรษฐกิจไทย
    
ปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรใช้กันมากมีสองกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก คือ แม่ปุ๋ย ได้แก่ ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ กลุ่มที่สอง คือ ปุ๋ยผสมหรือปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ที่นำแม่ปุ๋ยมาผสมกัน ได้แก่ ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปุ๋ยเคมีเหล่านี้สามารถใช้ได้กับพืชทุกชนิด ทั้งนาข้าว พืชไร่ ไม้ผล รวมทั้งพืชผักชนิดต่าง ๆ โดยปุ๋ยเคมีเกือบทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ จีน รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แคนาดา เบลารุส นอร์เวย์ มาเลเซีย มีปุ๋ยเคมีเพียงเล็กน้อยที่ผลิตเองภายในประเทศ ซึ่งปุ๋ยเคมีที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
    
เมื่อปุ๋ยเคมีเป็นที่นิยมมากกว่าปุ๋ยชนิดอื่น ทำให้มีปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่วัตถุดิบของปุ๋ยเคมีล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อใดที่วัตถุดิบผลิตปุ๋ยเคมีขาดแคลนหรือราคาปุ๋ยเคมีในต่างประเทศสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบให้ราคาปุ๋ยเคมีในประเทศสูงขึ้นตาม จนเกิดปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงอยู่บ่อยครั้ง และปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เริ่มขึ้นในปลายปี 2564 ที่ราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาปุ๋ยในประเทศปรับตัวสูงตาม และเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน รัสเซียผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีอันดับหนึ่งของโลกได้ระงับการส่งออกปุ๋ยเคมีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา รวมทั้งจีนส่งออกปุ๋ยเคมีน้อยลง ส่งผลให้ราคาปุ๋ยในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้นทันที โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนจากเดิมในปี 2564 ราคา ปุ๋ยไนโตรเจนขายปลีกท้องถิ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 8,666 บาทต่อตัน ได้ขยับขึ้นมาเป็น 15,450 บาทต่อตันในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัว ส่วนปุ๋ยเคมีสูตรอื่น ๆ ล้วนปรับราคาสูงขึ้นมากเช่นเดียวกันและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 2566

ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตทางการเกษตรที่มีรายได้มากถึง 1 ล้านล้านบาท และมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีประมาณ 5 ล้านตัน มีมูลค่ามากถึง 50,000 ล้านบาท ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงถือเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกร เนื่องจากต้นทุนการเพาะปลูกพืชทั้งหมดต้องจ่ายเป็นค่าปุ๋ยเคมีถึงร้อยละ 20 หรือคิดเป็นหนึ่งในห้าของต้นทุนการเพาะปลูก ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกของเกษตรกรสูงขึ้น จึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรทั่วประเทศ 
    
กระทรวงพาณิชย์จึงได้ดำเนินการจัดหาปุ๋ยเคมีราคาถูกให้เกษตรกรผ่านสถาบันเกษตรกรต่าง ๆ และกำหนดให้ปุ๋ยเคมีเป็นสินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพื่อดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย หรือการกำหนดเงื่อนไข และวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ กรมการค้าภายในได้ติดตามตรวจสอบด้านปริมาณและราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาแบบไม่เป็นธรรมและการกักตุนสินค้า 
สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง ดังนี้

  1. 1. มาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ได้แก่ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน จำนวน 299 ศูนย์ ในพื้นที่ 58 จังหวัด ช่วยเหลือเกษตรกร 52,170 ราย คิดเป็นพื้นที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 250,398 ไร่ และการชดเชยราคาปุ๋ยให้แก่เกษตรกรโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์
  2. 2. มาตรการการแก้ปัญหาระยะกลาง ใช้ระยะเวลา 3 ถึง 5 ปี คือการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตแม่ปุ๋ยภายในประเทศ ได้แก่ ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งประเทศไทยมีแหล่งสินแร่โพแทชที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแม่ปุ๋ยได้ เช่น จังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี นครราชสีมา เป็นต้น
  3. 3. มาตรการการแก้ปัญหาระยะยาว คือ การจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาปุ๋ย

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์นำเอาปุ๋ยคอกมาใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น และกรมพัฒนาที่ดินส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและช่วยเหลือเกษตรกรให้เข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอและใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
    
จากมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงระยะสั้นอย่างรวดเร็วของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการเจรจาการค้าปุ๋ยเคมีจากประเทศซาอุดีอาระเบียโดยตรงของรัฐบาลไทย ทำให้สถานการณ์ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงบรรเทาลงได้บ้าง โดยตลอดปี 2565 ตลาดปุ๋ยเคมีไม่มีการขาดแคลน เกษตรกรจึงไม่เสียโอกาสในการผลิตเพราะขาดแคลนปุ๋ยเคมี แม้จะต้องมีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้นเพราะปุ๋ยเคมีขึ้นราคาก็ตาม

ราคาปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นมาตลอดปี 2565 จนถึงต้นปี 2566 นั้น ได้เริ่มเปลี่ยนกลับมาลดราคาลง เนื่องจากราคาวัตถุดิบปุ๋ยเคมีในตลาดโลกปรับลดราคาลงอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 35 และทำให้ราคาปุ๋ยเคมีในประเทศไทยลดลงเช่นกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานว่า ปุ๋ยไนโตรเจนขายปลีกท้องถิ่นเฉลี่ยจากเดิมในปี 2565 ราคา 15,450 บาทต่อตันนั้น ในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้ปรับลดลงเหลือ 13,925 บาทต่อตัน และคาดว่าราคาปุ๋ยเคมีจะปรับลดลงอีก อีกทั้งมีปริมาณปุ๋ยเคมีสำรองไว้ไม่ขาดแคลนตลอดปี 2566
    
แม้ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงจะมีแนวโน้มบรรเทาลงก็ตาม รัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัวให้อยู่ได้ในภาวะที่ปุ๋ยเคมีราคาแพง โดยการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพและไม่สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ รวมถึงมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงระยะกลางและระยะยาวของรัฐบาล ที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืนตลอดไป

ภาพปก