คณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)

Script Writer
อริย์ธัช แก้วเกาะสะบ้า, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-06
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

สํานักงานตํารวจแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และมีอํานาจหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีพระรัชทายาท ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งการป้องกันปราบปรามการกระทําความผิดทางอาญา ตลอดจนการรักษาความสงบเรียบร้อย การรักษาความปลอดภัยของประชาชนให้เหมาะสมกับความจำเป็นในแต่ละท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งความมั่นคงของราชอาณาจักร โดยมีหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ ได้แก่ ตํารวจนครบาล และตํารวจภูธร ซึ่งมีสถานีตํารวจให้บริการประชาชนอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยปฏิบัติการเฉพาะทาง ได้แก่ ตํารวจสอบสวนกลาง ตํารวจปราบปรามยาเสพติด ตํารวจตรวจคนเข้าเมือง ตํารวจตระเวนชายแดน และหน่วยเทคนิคสนับสนุน เช่น กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สํานักงานพิสูจน์หลักฐานตํารวจ สํานักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น 
    
สํานักงานตํารวจแห่งชาติมีผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีอํานาจบังคับบัญชาตํารวจทั่วประเทศ และมีคณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติเรียกโดยย่อว่า “ก.ต.ช.” มีอํานาจหน้าที่ในการกําหนดนโยบายบริหารราชการตํารวจ และกํากับดูแลสํานักงานตํารวจแห่งชาติให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบาย มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบแบบแผน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม อัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมาจากการสรรหาและคัดเลือกจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในด้านยุทธศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านพัฒนาองค์กร ด้านสื่อสารมวลชนหรือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านละหนึ่งคน และผู้แทนภาคประชาชนจำนวนหนึ่งคน มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการให้แก่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)

สำหรับการปฏิรูปตำรวจในส่วนของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 นั้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปตำรวจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ อาทิ มีการปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับการบริหารงานราชการตำรวจ โดยมีการเพิ่มกรรมการโดยตำแหน่ง คือ อัยการสูงสุดและเลขาธิการศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายข้าราชการประจำ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการได้มาของผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ โดยกำหนดให้ประธานกรรมการ ก.ต.ช รองประธานกรรมการฯ กรรมการโดยตำแหน่งและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติร่วมกันสรรหาและคัดเลือกแทนวุฒิสภาแต่เดิม และมีการเพิ่มผู้แทนภาคประชาชนเข้ามาหนึ่งคน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและให้การบริหารงานของคณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติมีประสิทธิภาพในการบริหารงานมากยิ่งขึ้น 
    
ฉะนั้น การปฏิรูปตำรวจในส่วนของคณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) จะทําให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติมีการบริหารงานที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปสํานักงานตํารวจแห่งชาติคงต้องดําเนินการต่อไปเพื่อให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติปลอดจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองอย่างแท้จริง และทำให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็ง อำนวยความยุติธรรม สร้างความเชื่อมั่น ศรัทธา และเป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป

ภาพปก