กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในต่างแดน

Script Writer
นฐมลย์ พงษ์รอจน์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-06
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า หน่วยงานของไทยในต่างแดนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต (Royal Thai Embassy) สถานกงสุลใหญ่ (Royal Thai Consulate-General) และสถานกงสุล (Royal Thai Consulate) นั้น ทำหน้าที่ในการเชื่อมสัมพันธไมตรีระดับทวิภาคี (Bilateral Relations) ทั้งในด้านการเมือง การค้า เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความร่วมมือสองฝ่าย ตลอดจนการให้การคุ้มครองและส่งเสริมผลประโยชน์ของคนในชาติของตนที่อยู่ในอีกประเทศหนึ่งแต่ในบางประเทศยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานตัวแทนของไทยดังที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น ช่องทางการทูตอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้การดำเนินความสัมพันธ์ทางด้านต่าง ๆ ของไทยในอีกประเทศหนึ่งมีความใกล้ชิดกัน ประสานงานได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ คือ สถานที่ทำการที่เรียกว่า “สถานทำการทางกงสุลเป็นที่ทำการของ “เจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์” ซึ่งมีเขตครอบคลุมพื้นที่ตามที่รัฐผู้รับและคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ และบุคคลซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งราชอาณาจักรไทย มี 3 ระดับ คือ 1) กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ (Honorary Consul General) 2) กงสุลกิตติมศักดิ์ (Honorary Consul) และ 3) รองกงสุลกิตติมศักดิ์ (Deputy Honorary Consul)

ตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการแต่งตั้งและการหน้าที่ของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2563 ข้อ 8 ระบุว่า “กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์หรือกงสุลกิตติมศักดิ์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสถานทำการทางกงสุล ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นบุคคลสัญชาติใดก็ได้ แต่ควรมีถิ่นพำนักอยู่ในเมืองที่สถานทำการทางกงสุลตั้งอยู่ หรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเมืองที่สถานทำการทางกงสุลตั้งอยู่ ซึ่งสะดวกแก่การปฏิบัติหน้าที่

(2) เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในวงสังคม มีฐานะมั่นคงเป็นหลักฐาน และมีศักยภาพในการทำคุณประโยชน์ให้ประเทศไทย

(3) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้รับโทษจำคุกในคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล หากเป็นครั้งแรกจะได้รับแต่งตั้งให้เป็น “กงสุลกิตติมศักดิ์” ก่อน ซึ่งการเลื่อนสถานะเป็น “กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์” จะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นผลการดำเนินงาน ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง ความอาวุโส ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายเขตกงสุล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การที่สถานทำการทางกงสุลจะมีสถานะเป็นสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์หรือสถานกงสุลกิตติมศักดิ์นั้น ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานะของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล กล่าวคือผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์อาจมีสถานะเป็นหัวหน้าของสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ได้ ทั้งนี้ กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์หรือกงสุลกิตติมศักดิ์ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลสามารถเสนอชื่อบุคคลต่อสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ เพื่อให้คณะกรรมการเสนอรายชื่อและประเมินผลพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งและการถอดถอนพิจารณาแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นรองกงสุลกิตติมศักดิ์ต่อไป

สำหรับตำแหน่งเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ เป็นตำแหน่งเกียรติยศซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยมติของคณะรัฐมนตรี จึงถือว่าเป็นความไว้วางใจของรัฐบาลไทยให้เป็นตัวแทนปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลและคุ้มครองดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย บุคคล และนิติบุคคลไทยในพื้นที่เขตกงสุลของตน โดยปราศจากค่าตอบแทนใด ๆ ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือน ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดหาสถานที่ทำการทางกงสุล ตลอดจนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากการดำเนินการอันเนื่องมาจากการให้บริการทางกงสุล อาทิ การให้ความคุ้มครอง การให้ความช่วยเหลือ การให้การดูแลแก่บุคคลสัญชาติไทยด้วยตนเองทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่มักเป็นชาวต่างชาติหรือบุคคลในท้องถิ่นซึ่งได้รับการแต่งตั้งและมอบหมายให้ดูแลส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศไทยและบุคคลสัญชาติไทยในเขตกงสุล ทั้งนี้ การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับและต้องยื่นสัญญาบัตรและได้รับอนุมัติบัตรเช่นเดียวกับผู้แทนฝ่ายกงสุลอาชีพ (Career Consular Officer)

การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์นั้น ถูกกำหนดให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศและคู่มือการปฏิบัติงานที่ทางกระทรวงฯ จัดทำขึ้น โดยมีหน้าที่ คือ

1) การให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่หรือสถานกงสุล

2) ปกป้องสิทธิและดูแลผลประโยชน์ของบุคคลและนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทยในด้านต่าง ๆ อาทิ เศรษฐกิจ การเมือง การค้า การลงทุน วัฒนธรรม สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การกีฬา การท่องเที่ยว

3) คุ้มครองช่วยเหลือเกี่ยวกับการตาย การถูกจับกุม การคุมขัง การรักษาตัวในโรงพยาบาล

4) รายงานต่อสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ แล้วแต่กรณี อาทิ การช่วยเหลือบุคคลสัญชาติไทยที่ตกทุกข์ได้ยาก การดำเนินการเพื่อส่งกลับภูมิลำเนา ตลอดจนเยี่ยมเยือนชุมชนชาวไทยในเขตกงสุลอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

จึงเห็นได้ว่าหน่วยงานในต่างแดนของไทยที่ทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นระดับสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ หรือแม้แต่สถานทำการทางกงสุล ล้วนถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญซึ่งสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยและคนไทยในต่างแดนด้วยกันทั้งสิ้น

ภาพปก