คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.)

Script Writer
สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-06
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) เป็นคณะกรรมการหนึ่งที่ตั้งขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งประกาศใช้บังคับแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจโดยเฉพาะ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเพื่อให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่ไต่สวนและชี้มูลว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่มีเพียงจเรตำรวจรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ที่เกี่ยวกับข้าราชการตำรวจ พนักงานราชการและลูกจ้างในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง และเสนอความเห็นให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการ รวมทั้งสอดส่องความประพฤติ การปฏิบัติตามระเบียบ วินัยและการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยกันเอง

ก.ร.ตร. ประกอบด้วย ประธาน ก.ร.ตร. และกรรมการ ก.ร.ตร. ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่มาจากภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้ 1) ผู้ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประชุมร่วมกันคัดเลือก จำนวน 1 คน 2) ผู้ซึ่งเคยรับราชการในตำแหน่งตั้งแต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือเทียบเท่าขึ้นไป และได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ จำนวน 1 คน 3) ผู้ซึ่งเคยรับราชการในตำแหน่งตั้งแต่อัยการพิเศษฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไป และได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการอัยการ จำนวน 1 คน 4) ผู้ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าขึ้นไป จำนวน 3 คน ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) คัดเลือกจากบุคคลตามวิธีการที่กำหนดไว้ 5) ทนายความซึ่งประกอบอาชีพทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งสภาทนายความคัดเลือกจำนวน 1 คน 6) ผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวน 2 คน ซึ่งที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลคัดเลือก โดยอย่างน้อยต้องเป็นสตรี จำนวน 1 คน และให้จเรตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ ก.ร.ตร. รวมจำนวน 10 คน และให้ ก.ร.ตร. มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้บังคับการหรือเทียบเท่าในสำนักงานจเรตำรวจ จำนวนไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ก.ร.ตร. โดยกรรมการ ก.ร.ตร. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ก.ร.ตร. มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบหรือการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ ดังนั้น ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือพบเห็นข้าราชการตำรวจประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณตำรวจ ให้มีสิทธิร้องเรียนต่อ ก.ร.ตร. ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ร.ตร. กำหนด โดยหลักเกณฑ์ที่ ก.ร.ตร. กำหนดต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นและไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนเกินสมควรด้วย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ ก.ร.ตร.มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงได้หากความปรากฏต่อ ก.ร.ตร. ไม่ว่าโดยทางใด และไม่ว่าจะมีผู้ร้องเรียนหรือไม่ก็ตาม

ในกรณีที่ ก.ร.ตร. พิจารณาแล้ว หากเห็นว่าไม่มีมูลให้สั่งยุติเรื่อง แต่หากเห็นว่าเป็นการกระทำผิวินัยให้ส่งสำนวนการพิจารณาและคำวินิจฉัยพร้อมพยานหลักฐานให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาโทษโดยเร็ว โดยผู้บังคับบัญชาไม่ต้องดำเนินการสืบสวนหรือสอบสวนอีก เว้นแต่จะมีพยานหลักฐานใหม่แสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำความผิด หรือทำผิดในฐานความผิดที่แตกต่างจากที่ถูกกล่าวหา ผู้บังคับบัญชาจะขอให้ ก.ร.ตร. พิจารณาทบทวนก็ได้ แต่หากการกระทำมีลักษณะเป็นการทุจริต ให้ ก.ร.ตร. ส่งสำนวนพร้อมพยานหลักฐานให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ แล้วแต่กรณี ยิ่งไปกว่านั้น ก.ร.ตร. จะให้ผู้บังคับบัญชาสั่งพักราชการผู้นั้นไว้ก่อนก็ได้หากเห็นว่าควรระงับความเดือดร้อนของประชาชน หรือควรป้องกันความเสียหายต่อราชการ และหาก ก.ร.ตร. พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีมูลเพราะเป็นการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติของ ก.ตร. แต่ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติ ก.ตร. นั้นไม่เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ให้ ก.ร.ตร. เสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี ก.ตร. หรือหน่วยงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงใหม่ได้อีกด้วย

สำหรับการแต่งตั้ง ก.ร.ตร. ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 นั้น ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 117/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจขึ้น จำนวน 7 คน ประกอบด้วย 1) พลตำรวจเอก ปัญญา  มาเม่น  2) นางสมศรี  หาญอนันทสุข 3) พลตำรวจโท สรศักดิ์  เย็นเปรม 4) นางสาวสุกลภัทร  ใจจรูญ 5) นายสุนทร  พยัคฆ์ 6) นางอริยา  แก้วสามดวง 7) พลตำรวจโท อำนวย  นิ่มมะโน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 และต่อมาได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 144/2566 แต่งตั้งให้พลตำรวจโท สรศักดิ์  เย็นเปรม เป็นประธานกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566

อนึ่ง หากประชาชนต้องการร้องเรียนไปยัง ก.ร.ตร. สามารถทำได้ผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่

1) ผ่านระบบ JCOMS ระบบรับเรื่องร้องเรียนของจเรตำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ http://www.jcoms.police.go.th

2) สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 1599

3) ร้องเรียนด้วยตนเองที่สำนักงานจเรตำรวจ โทร. 0 2509 8798

4) ส่งหนังสือไปยัง “ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานจเรตำรวจ” เลขที่ 701/701 ถนนรามอินทรา แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220 หรือ

5) ร้องเรียนกับผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดโดยตรง จากนั้นจเรตำรวจในฐานะเลขานุการ ก.ร.ตร. จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ภาพปก