เงินดิจิทัล

Script Writer
อานันท์ เกียรติสารพิภพ, นิติกรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-05
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ตามที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายจะให้เงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาท แก่ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยมีเงื่อนไขให้สามารถนำเงินไปใช้จ่ายในชุมชนภายในรัศมี 4 กิโลเมตร นับจากที่อยู่ตามที่ระบุในบัตรประชาชน และจะต้องใช้ภายใน 6 เดือน ซึ่งเป็นการแจกให้เพียงครั้งเดียว (ถ้าไม่มีร้านค้าในละแวกนั้นก็สามารถขยายรัศมีได้) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่าเงินดิจิทัลคืออะไร และแตกต่างจากเงินที่เราใช้จ่ายกันอยู่ในปัจจุบันอย่างไร เหมือนกับสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือไม่ อย่างไร

เงินที่เราใช้อยู่ในรูปแบบของธนบัตรซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยผลิตออกมา เรียกว่า “Fiat Money” หรือ “เงินกระดาษ” หากเงินดังกล่าวได้ถูกฝากเข้าไปอยู่ในระบบของสถาบันการเงินในรูปแบบของเงินฝาก และมีการใช้เงินผ่านธุรกรรมทางการเงินโดยการโอนหรือชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารพาณิชย์นั้น จะเรียกว่า “Electronic Money”

ส่วนสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) คือ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ประเภทหนึ่งที่มีการรักษาความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัส ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) เพียงแต่ไม่สามารถจับต้องได้ โดยจะมีหลากหลายสกุลเงิน โดยสกุลเงินดิจิทัลที่เราคุ้นเคยและได้ยินกันบ่อย ๆ คือ สกุลเงิน Bitcoin ทั้งนี้ สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) จะทำงานอยู่บนเทคโนโลยีที่ชื่อว่า “Blockchain” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการเข้ารหัสคอมพิวเตอร์ โดยจะบันทึกข้อมูลลงในกล่อง (Block) และนำมาต่อกันเรื่อย ๆ เหมือนสายโซ่ (Chain) ซึ่งจะไม่สามารถย้อนกลับได้ ทำให้ยากต่อการปลอมแปลง แก้ไข หรือทำลายข้อมูล มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) จะแปรผันตามอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของตลาดคล้ายกับ “ทองคำ” ยิ่งเหรียญนั้นมีอุปสงค์หรือความต้องการมากเพียงใด เหรียญนั้นก็จะมีมูลค่าสูงขึ้น และยิ่งเป็นเหรียญที่มีอุปทานจำกัดอย่าง Bitcoin ที่มีจำนวนอุปทานจำกัดเพียง 21 ล้านเหรียญ ก็จะส่งผลให้มูลค่าของเหรียญสูงขึ้น

สำหรับเงินดิจิทัล (Digital Money) ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้นไม่ใช่เงินในรูปแบบของธนบัตรซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยผลิตออกมา และไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) โดยรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจะโอนสินทรัพย์ในลักษณะของเหรียญดิจิทัล (Digital Coin) ที่มีชื่อว่า “เพื่อไทยดิจิทัล คอยน์ (PHEUTHAI Digital Coin: PDC)” มูลค่า 10,000 บาท เข้าไปในกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) เข้าสู่ตามเลขที่ลงทะเบียนไว้ เช่น ประชาชนไทย อายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีบัตรประชาชนหมายเลข 13 หลัก ประมาณ 50 ล้านคน เพื่อทดลองโอนกระเป๋าละ 5,000-10,000 บาท ซึ่งเมื่อรัฐบาลแจกจ่ายออกไป คนที่ได้รับเหรียญดิจิทัล (Digital Coin) ก็สามารถนำไปใช้จ่ายตามร้านค้าที่ระบุไว้ในเงื่อนไขได้ แต่เมื่อร้านค้าจะนำเหรียญดิจิทัล (Digital Coin) ดังกล่าวมาขึ้นเงินกับรัฐบาลคล้ายกับนโยบายคนละครึ่งที่ประชาชนใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และร้านค้าจะต้องมาเรียกเก็บเงินส่วนที่เหลือจากรัฐบาล รัฐบาลก็จะต้องชำระเงินให้แก่ร้านค้าผู้ถือเหรียญดิจิทัลที่เรียกว่า “เพื่อไทยดิจิทัลคอยน์ (PHEUTHAI Digital Coin: PDC)” ดังกล่าว ซึ่งจะต้องใช้เงินจริงมาอุดหนุน ทำให้ต้องตั้งงบประมาณไว้สำหรับใช้จ่ายในส่วนนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท และในระยะสั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2-3 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิชาการหลายฝ่ายวิตกกังวล คือ การจัดสรรงบประมาณจำนวน 500,000 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้จ่ายตามนโยบายดังกล่าว ซึ่งมาจากรายได้หลักของรัฐซึ่งประกอบด้วยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คาดการณ์ว่ารัฐบาลในชุดก่อนจะสามารถจัดเก็บเงินได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ จึงอาจทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินมาใช้จ่ายตามงบประมาณดังกล่าว

ภาพปก