Digital Nomads กับโอกาสในการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยปี 2566

Script Writer
วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-05
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“Digital Nomads” อ่านว่า “ดิจิทัล นอแมด” แปลความหมายภาษาอังกฤษแบบถอดคำ “Nomad” หมายถึง คนที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และ “Digital” หมายถึง เทคโนโลยีดิจิทัล เมื่อรวมกันจึงหมายถึง ผู้เร่ร่อนทางดิจิทัล ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏครั้งแรกในหนังสือชื่อเดียวกัน เมื่อปี 2540 (ค.ศ. 1997)โดยถูกนิยามว่าเป็นกลุ่มคนที่ทำงานทางไกลจากที่ใดก็ได้ผ่านอินเทอร์เน็ตหรือคนทำงานยุคดิจิทัลแบบไร้ออฟฟิศ หรือคนที่สามารถทำงานและใช้ชีวิตจากที่ใดก็ได้ คนที่ทำงานลักษณะดังกล่าวจำนวนมากเลือกทำงานไปด้วยท่องเที่ยวไปด้วยจากทั่วทุกมุมโลก และผลการสำรวจในหัวข้อ “Work and Wander: Meet Today’s Digital Nomads” เมื่อปี 2564 (ค.ศ. 2021) โดย Adventure Travel Trade Association (ATTA) ซึ่งเป็นเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวแบบผจญภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่าประเทศต้นทางของ Digital Nomads ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย บราซิล เนเธอร์แลนด์ สเปน และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ 

Digital Nomads เริ่มได้รับการยอมรับในวงกว้าง ปัจจุบันมีมากกว่า 46 ประเทศที่ออกวีซ่าระยะยาวให้แก่ Digital Nomads อาทิ

  1. 1) อินโดนีเซีย ออกวีซ่าให้อยู่ทำงานได้ถึง 5 ปี และไม่ต้องเสียภาษีหากมีรายได้จากต่างประเทศ
  2. 2) ไซปรัส ออกวีซ่าให้แก่คนนอกสหภาพยุโรปอยู่ทำงานได้สูงสุด 1 ปี และต่อได้อีก 2 ปี ถ้าจำเป็น และ
  3. 3) มอลตา ออกวีซ่าให้แก่คนนอกสหภาพยุโรปอยู่ทำงานได้ 1 ปี

ทำให้ Digital Nomads แตกต่างจากนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น เนื่องจากมีระยะเวลาการเข้าพักเฉลี่ยที่สูงกว่ากลุ่มท่องเที่ยวทั่วไปมากกว่าเท่าตัวและไม่มีความผันผวนในการยกเลิกการเดินทางเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป ดังนั้น จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของไทยในการพัฒนาการท่องเที่ยวและการเตรียมธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง

ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งในจุดหมายปลายทางของ Digital Nomads จากผลการสำรวจเกี่ยวกับผลลัพธ์การทำงานที่ยืดหยุ่นของเว็บไซต์ Instant Offices ของ The Instant Group บริษัทให้บริการด้านการทำงานรูปแบบใหม่ที่เน้นการทำงานแบบยืดหยุ่นของสหราชอาณาจักร พบว่า Digital Nomads ทั่วโลก ประมาณ 35 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านคนในปี 2578 (ค.ศ. 2035) กล่าวคือ 1 ใน 3 ของประชากรวัยทำงานทั่วโลก นอกจากนี้ ยังจัดให้กรุงเทพฯ เป็นอันดับที่ 2 ของเมืองที่ดีที่สุดในโลกสำหรับกลุ่ม Digital Nomads ประจำปี 2565 (ค.ศ. 2022) โดยพิจารณาจากความสามารถในด้านต่าง ๆ อาทิ

  1. 1) ความเป็นมิตรต่อการใช้จ่ายสำหรับการย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตระยะยาว มีความคุ้มค่าเงินทั้งอาหารและที่พักคุณภาพในราคาประหยัด เมื่อเทียบกับอัตราค่าครองชีพที่ต่ำกว่าประเทศในทวีปยุโรป
  2. 2) อินเทอร์เน็ตที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานทางไกลแบบดิจิทัลที่ไทยมีการพัฒนาระบบครอบคลุมทุกพื้นที่มีไวไฟ (Wifi) ที่มีความเร็วสูงและมีเสถียรภาพรองรับแบบ 24 ชั่วโมง
  3. 3) สภาพภูมิอากาศ ทิวทัศน์ และบรรยากาศของเมืองที่ช่วยให้ผ่อนคลายหลังการทำงานที่ในแต่ละแห่งจะมีเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป และ
  4. 4) ความสะดวกสบายในการเดินทาง ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomads

นอกจากนี้ เมืองรองยังถือเป็นอีกจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เช่นกัน เพราะเมืองรองมีปัจจัยดึงดูดจากค่าใช้จ่ายและความแออัดของผู้คนที่น้อยกว่าเมืองหลักขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีเสน่ห์จากเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ดังนั้น ภาครัฐ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว และผู้ประกอบการด้านธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องของไทยควรร่วมกันกำหนดกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้ทั้งเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และ ภูเก็ต รวมทั้งเมืองรอง เช่น เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา พิษณุโลก สตูล ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช สุพรรณบุรี ลพบุรี นครนายก สมุทรสาคร ราชบุรี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุดรธานี บึงกาฬ เลย เป็นต้น ให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับกลุ่ม Digital Nomads

ภาพปก