องค์การตำรวจสากล

Script Writer
ศรันยา สีมา, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-10
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การสื่อสาร และการคมนาคมนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รูปแบบของการก่ออาชญากรรมเปลี่ยนแปลงไป เกิดการกระทำความผิดจากประเทศหนึ่งต่อเนื่องไปยังอีกประเทศหนึ่งในลักษณะของเครือข่ายอาชญากรรมหรือองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ เช่น การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ เป็นต้น ซึ่งการที่จะป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการทำความตกลงร่วมกันจัดตั้ง “องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ” (The International Criminal Police Organization: ICPO) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “องค์การตำรวจสากล” (INTERPOL) ขึ้น มีฐานะเป็นองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล ให้เป็นหน่วยประสานงานกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศและให้ความช่วยเหลือกันระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกจำนวน 195 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2566) ในการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสำนักงานกลางแห่งชาติ (National Central Bureau: NCB) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในของประเทศสมาชิกที่ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานกับสำนักงานเลขาธิการองค์การตำรวจสากล ผ่านระบบข้อมูลกลางที่เรียกว่า ไอ-24/7 (I-24/7) ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยองค์การตำรวจสากลจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในและเรื่องทางการเมืองหรือศาสนาของประเทศสมาชิก 

องค์การตำรวจสากลไม่มีอำนาจในการจับกุมหรือดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด แต่ทำการแจ้งเตือนประเทศสมาชิกให้เฝ้าระวังบุคคลที่หน่วยงานของประเทศสมาชิกกำลังติดตามอยู่ โดยการใช้ “หมาย” หรือ “Notice” มีทั้งหมด 8 ประเภท คือ 

  1. 1) หมายแดง (Red Notice) หมายถึง แจ้งเพื่อค้นหาสถานที่และจับกุมบุคคลที่ต้องการดำเนินคดีหรือรับโทษ
  2. 2) หมายเหลือง (Yellow Notice) หมายถึง แจ้งเพื่อช่วยค้นหาผู้สูญหาย ซึ่งมักเป็นผู้เยาว์หรือเพื่อช่วยระบุตัวบุคคลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ 
  3. 3) หมายน้ำเงิน (Blue Notice) หมายถึง แจ้งเพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวตนของบุคคล สถานที่ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนคดีอาญา 
  4. 4) หมายดำ (Black Notice) หมายถึง แจ้งเพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับศพที่ไม่ปรากฏชื่อ 
  5. 5) หมายเขียว (Green Notice) หมายถึง แจ้งเพื่อแจ้งเตือนเกี่ยวกับกิจกรรมทางอาญาของบุคคล ซึ่งบุคคลนั้นถือเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของสาธารณะ 
  6. 6) หมายส้ม (Orange Notice) หมายถึง แจ้งเพื่อเตือนถึงเหตุการณ์ บุคคล วัตถุ หรือกระบวนการที่แสดงถึงภัยคุกคามร้ายแรงและใกล้จะเกิดขึ้นต่อความปลอดภัยของสาธารณะ 
  7. 7) หมายม่วง (Purple Notice) หมายถึง แจ้งเพื่อค้นหาหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการทำงาน วัตถุ อุปกรณ์ และวิธีการปกปิดที่อาชญากรใช้
  8. 8) หมายพิเศษขององค์การตำรวจสากล-คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (INTERPOL–United Nations Security Council Special Notice) ออกสำหรับบุคคลและคณะบุคคลที่อยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การตำรวจสากลเมื่อเดือนสิงหาคม 2494 มีกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นสำนักงานกลางแห่งชาติของประเทศไทย ทำหน้าที่ในการประสานงานกับสำนักงานเลขาธิการองค์การตำรวจสากล ประสานงานกับสำนักงานกลางแห่งชาติของประเทศสมาชิก และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือกับองค์การตำรวจสากลในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและจับกุมบุคคลตามหมายแดงส่งตัวให้แก่ประเทศสมาชิก และในขณะเดียวกันก็ได้รับความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการจับกุมตัวผู้กระทำความผิดกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยหลายคดี เช่น กรณีผู้ต้องหาชาวไต้หวันในคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลบหนีไปยังแอลเบเนีย และผู้ต้องหาชาวแคนาดาที่ก่อเหตุฆาตกรรมในจังหวัดภูเก็ตซึ่งหลบหนีไปยังแคนาดา เป็นต้น 

องค์การตำรวจสากลเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญารูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้การปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงระวังบางประการ กล่าวคือ แม้ว่าหมายแดงขององค์การตำรวจสากลไม่มีสถานะเป็นหมายจับที่ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามก็ตาม แต่ส่วนใหญ่มักให้ความร่วมมือจับกุมบุคคลตามหมายแดงและส่งตัวให้แก่ประเทศสมาชิกที่ขอออกหมาย ดังนั้น หน่วยงานของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องควรใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการตามหมายแดงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกจับกุมและกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ภาพปก