ปฏิบัติการ IO

Script Writer
อาริยา สุขโต, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภาพและเหตุการณ์ทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง ในช่วงที่มีการจัดตั้งรัฐบาล มีคำหนึ่งคำเป็นที่คุ้นหู คือ “ไอโอ” (IO) ซึ่งคำว่า “ไอโอ” (IO) ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Information Operation หรือ “ปฏิบัติการข่าวสาร” ซึ่งในอดีตถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบในการรบหรือการทำสงคราม เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ตนเองโดยการทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามด้วยกลยุทธ์ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างอิทธิพลการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม ทั้งการปล่อยข่าวลวง การใส่ร้าย การโจมตี มีทั้งวิธีการทางด้านสังคมและสื่อออนไลน์ เป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่พยายามควบคุมความคิดและความเชื่อของศัตรู บิดเบือนข้อมูลเพื่อสร้างเรื่องราวเท็จในสื่อข่าวที่มีอยู่ Information Operation เป็นวิธีการที่เริ่มใช้มานาน ซึ่งมีรูปแบบเอกสารอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2003 และถูกนำมาเปิดเผยในปี 2006 ขยายผลจากหลักการที่เกี่ยวข้องกับสงครามสารสนเทศในมุมมองของกองทัพสหรัฐฯ

ปฏิบัติการด้านข่าวสาร หรือปฏิบัติการ IO ใช้สื่อโซเชียลเพื่อเผยแพร่ข้อมูลโจมตีฝ่ายตรงกันข้ามอย่างเป็นระบบ ทำงานผ่านแอปพลิเคชันที่มักมีการใช้งานกับทวิตเตอร์ จำนวน 2 แอปพลิเคชัน ซึ่งมีลักษณะการทำงานที่สามารถทวีตข้อความหลายข้อความได้ในเวลาเดียวกันหรือที่เรียกว่า “ปั่นแท็ก” เพื่อสร้างเรื่องราวความจริงขึ้นมาโดยจงใจ ที่สำคัญคือการใช้ทักษะความเชี่ยวชาญ “สื่อใหม่” เพื่อสามารถระงับหรือขัดขวางการ “IO” ของฝ่ายตรงข้ามได้ เช่น วิธี report หรือวิธีใช้คนจำนวนมากเข้าไปใช้เว็บเพจ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรมของฝ่ายตรงข้ามพร้อม ๆ กัน หรือถ้าเป็นระดับมืออาชีพอาจใช้การโจมตีด้วยไวรัส วิธีสังเกตว่าบัญชีใดเป็น IO หรือไม่นั้น สามารถสังเกตได้โดยบัญชี IO จะมีรูปแบบการทำซ้ำทุกวัน มีรอบปฏิบัติการวนเป็นรายชั่วโมงเหมือนเดิม ปัจจุบันประเทศไทยปรากฏบัญชีทวิตเตอร์ จำนวน 926 ราย มีถึง 684 บัญชีที่ไม่มีผู้ติดตาม ไม่มีข้อมูลที่ระบุบนโปรไฟล์ มีการสร้างขึ้นแบบง่าย ๆ และไม่ซับซ้อน ก่อนที่จะเข้าไปปรากฏและมีส่วนร่วมในเทรนด์ทวิตเตอร์ที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น ๆ แม้ว่าบางส่วนจะมองบัญชีเหล่านี้ว่าไม่มีอิทธิพลหรือไม่สามารถชักจูงผู้ใช้ส่วนใหญ่ได้ แต่บัญชี IO อาจสร้างความรำคาญแก่ผู้ใช้สื่อโซเชียล

หลักการสำคัญในการทำงานของ IO คือ การหา “จุดสนใจ” ของผู้ใช้สื่อ แล้วจึงสร้าง “คำค้น” หรือคีย์เวิร์ดที่สร้างชุดความคิดในเชิงลบเพื่อมุ่งทำลายฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น คีย์เวิร์ดหรือจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม จึงเป็นหัวใจสำคัญเพื่อการดำเนินปฏิบัติการ IO ที่มีประสิทธิภาพ โดยการใช้คีย์เวิร์ดเดิมเป็นตัวเดินเรื่องพัฒนาชุดความคิดไปเรื่อย ๆ ตัวอย่าง คนนิยมพรรคการเมืองไหน ทัศนคติเป็นอย่างไร ก็จะส่งข่าวสารทางนั้นมาให้ เป็นการเลือกข้างหนักขึ้น ซึ่งแนวโน้มที่คนจะเชื่อข้อมูลที่ตรงตามแนวทางที่ตนเองชอบและแชร์กระจายต่ออีก เป็นหนทางทำให้สังคมแตกแยก การกดหรือคลิกเข้าไปดูบทความซึ่งมักจะใช้หัวข้อข่าวแบบยั่วให้คลิก มีการเชื่อมโยงกับประเด็นการเมืองซึ่งกำลังเป็นที่สนใจ หรืออาจเป็นลักษณะที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการจะเชื่อมโยงหรือคีย์เวิร์ดแม้แต่น้อย แต่จะมีรูปแบบข้อมูลที่เป็นที่สนใจ ข่าวซุบซิบในวงการบันเทิง เป็นต้น ระบบ AI ที่มีในสื่อโซเชียลจะนำพาข้อมูลในลักษณะเดียวกันเข้าสู่ระบบ งานของปฏิบัติการ IO คือ การทวีตข้อความสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือโจมตีด้อยค่าผู้ที่คิดต่าง ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักแสดง คนมีชื่อเสียง หรือไปแสดงความคิดเห็นตามสำนักข่าว ทว่าพอทวีตข้อความซ้ำ ๆ ด้วยรูปประโยคเดิม ๆ ทำให้ระบบทวิตเตอร์ระงับบัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้ หรือการกดอิโมติคอนที่เป็นสัญลักษณ์ทางอารมณ์ อาทิ เศร้า โกรธ แสดงความเห็นคุกคามเพื่อด้อยค่าฝ่ายที่เห็นต่างหรือการยกย่องชื่นชมในเชิงบวก การกดไลก์ กดเลิฟ ให้กับเนื้อหาที่เป็นบวกกับฝ่ายตน รวมทั้งในทวิตเตอร์ซึ่งก็ใช้วิธีการเดียวกัน 

ปฏิบัติการ IO นำหลักการของเฟคนิวส์ ด้วยการเล่นกับความคิดและความเห็น อีกทั้งอารมณ์ร่วมของผู้อ่านด้วยข้อมูลหรือถ้อยคำที่กระตุ้นอารมณ์อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะทำให้ประหลาดใจ ตื่นกลัว ดูถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ซึ่งจะชักนำให้หลงเชื่อได้ง่ายหรือการนำหลักการของเรื่องที่ไม่จริง เมื่อพูดหรือกล่าวถึงบ่อยครั้งเรื่องนั้นจะเป็นจริงในการรับรู้ของผู้รับฟังที่มีการรับข้อมูลซ้ำวน ผู้รับข้อมูลจึงจำเป็นที่จะต้องกลั่นกรองข้อมูล เสพข้อมูลอย่างรอบด้าน และไม่หมกหมุ่นกับข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งจนเกินไปเพราะจะนำมาซึ่งความตึงเครียด ผู้ที่มีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณจะต้องมีใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีความเห็นต่าง โดยไม่ยึดมั่นความคิดของตนเป็นหลัก มีใจเป็นกลางและตัดสินใจโดยการใช้ข้อมูลประกอบหลายด้าน มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถเปลี่ยนความคิดเห็นของตนได้หากมีเหตุผลที่เพียงพอ

ดังนั้น การรับมือข้อมูลที่เกิดขึ้นและมีการส่งต่ออยู่ในโลกออนไลน์นั้น จึงต้องวิเคราะห์และตรวจสอบอย่างรอบคอบก่อนทุกครั้งที่จะส่งต่อหรือนำเสนอข้อมูลต่อบุคคลอื่น ๆ เพราะอาจมีผลกระทบเกิดขึ้นแก่ตนเอง ผู้อื่นและสังคม

ภาพปก