การควบคุมมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืช (ล้ง) เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก

Script Writer
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการผลิตสินค้าเกษตรแห่งใหญ่ของโลก ด้วยความเหมาะสมด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยมีรสชาติดีและมีผลผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศแล้ว สินค้าเกษตรของไทยโดยเฉพาะผลไม้ยังมีการส่งออกเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกผลไม้สำคัญของโลก โดยจะเห็นได้จากข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตร ปี 2565 “ผลไม้สด” เป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับ 1 ของประเทศไทย มีปริมาณการส่งออก 2.94 ล้านตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 1.72 แสนล้านบาท ผลไม้สดที่สร้างรายได้ 3 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน มะพร้าวอ่อน ลำไย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกผลไม้สดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน อันดับ 1 ในปี 2565 โดยปริมาณการนำเข้าผลไม้ของจีนอยู่ที่ 2.17 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 3.72 ทั้งนี้ ผลไม้ที่จีนนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กล้วยหอม มะพร้าวอ่อน ทุเรียน แก้วมังกร และ ลำไย ซึ่งจีนนำเข้าทุเรียนจากไทยถึงร้อยละ 95 ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมด 

การควบคุมมาตรฐานสินค้าเกษตรทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจำหน่ายจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก การควบคุมคุณภาพสินค้าพืชจะเริ่มตั้งแต่ 1. การควบคุมคุณภาพที่แหล่งผลิต (สวน) 2. การควบคุมคุณภาพผลผลิตที่ตลาดส่งออก (โรงคัดบรรจุ) และ 3. การตรวจคัดกรองเอกสารรับรองแหล่งผลิต กรมวิชาการเกษตรจึงได้กำหนดให้ผู้ส่งออกผักและผลไม้สดต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก ผลผลิตที่ส่งออกจะต้องมาจากแปลงปลูก เก็บเกี่ยว และใส่บรรจุภัณฑ์ตามขั้นตอนการผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางการเกษตรที่ดีในการผลิตพืช (Good Agricultural Practice: GAP) ต้องมาจากโรงงานผลิตสินค้าพืชที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (Good Manufacturing Practices for Packing House of Fresh Fruits and Vegetables) ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้ “โรงงานผลิตสินค้าพืช” หมายความถึง โรงคัดบรรจุ โรงงานแปรรูป โรงรมสารเคมี และ โรงรวบรวม ในการตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และการบริหารจัดการ “โรงคัดบรรจุ” หรือที่เรียกกันว่า “ล้ง” กรมวิชาการเกษตรได้ยกร่างหลักเกณฑ์จำแนก “ล้ง” เป็น 3 ระดับ ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง 

“ล้งสีเขียว” หมายถึง ไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนศัตรูพืชหรือสารพิษตกค้างจากประเทศคู่ค้า ไม่พบข้อร้องเรียนกรณีรับซื้อผลผลิตด้อยคุณภาพ มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพผลผลิต ศัตรูพืช สารพิษตกค้าง พร้อมแสดงหลักฐาน ให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจสอบคุณภาพอย่างดี ผลการตรวจสอบร้อยละน้ำหนักแห้งของทุเรียนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือด้อยคุณภาพไม่เกินร้อยละ 5 (เกณฑ์มาตรฐานร้อยละน้ำหนักแห้งของทุเรียน เพื่อวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียนที่สามารถส่งออกได้ พันธุ์หมอนทอง ต้องเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 32) การเป็น “ล้งสีเขียว” จะได้รับการประชาสัมพันธ์รายชื่อ ได้รับเกียรติบัตรการเป็นล้งที่อยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ทั้งนี้ ในการตรวจติดตาม พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีการสุ่มตรวจทุก 10 วัน

“ล้งสีเหลือง” หมายถึง ไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนศัตรูพืชหรือสารพิษตกค้างจากประเทศคู่ค้า ไม่พบข้อร้องเรียนกรณีรับซื้อผลผลิตด้อยคุณภาพ ผลการตรวจสอบน้ำหนักแห้งของทุเรียนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือด้อยคุณภาพไม่เกินร้อยละ 5-10 พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีการสุ่มตรวจทุก 5 วัน สำหรับ “ล้งสีเหลือง” หากมีการแก้ไขปรับปรุงให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ จะได้รับการปรับให้เป็น “ล้งสีเขียว” หากไม่แก้ไขปรับปรุง จะถูกปรับให้เป็น “ล้งสีแดง” 

“ล้งสีแดง” หมายถึง ได้รับการแจ้งเตือนศัตรูพืชหรือสารพิษตกค้างจากประเทศคู่ค้า ไม่มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ ผลผลิต ศัตรูพืช สารพิษตกค้าง ไม่แสดงหลักฐาน ไม่ให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจคุณภาพ ผลการตรวจสอบร้อยละน้ำหนักแห้งของทุเรียนไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือด้อยคุณภาพเกินกว่าร้อยละ 10 “ล้งสีแดง” หากไม่มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์ และมีผลการตรวจต่ำลง จะมีการพิจารณา พักใช้ ยกเลิก หรือ เพิกถอน หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช ตามระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 มีโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรแล้ว จำนวน 1,927 แห่ง ในการตรวจสอบสินค้าพืชให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานการส่งออก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้การส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเติบโตและเข้มแข็ง ในขณะเดียวกัน เกษตรกรไทยจะต้องมีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สอดรับกับทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมให้สินค้าเกษตรกรของไทยเติบโตในตลาดโลกอย่างแข็งแกร่งต่อไป

ภาพปก