อัตราเงินค่าตอบแทนใหม่ของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล

Script Writer
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบล มีจำนวนทั้งสิ้น 5,303 แห่ง โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) เป็นผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้บริหาร อบต. ในการควบคุมและรับผิดชอบการบริหารราชการของ อบต. และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างของ อบต. 

สำหรับอัตราเงินค่าตอบแทนของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น ประกอบด้วย 1) เงินค่าตอบแทนรายเดือน 2) เงินประจำตำแหน่ง และ 3) เงินค่าตอบแทนพิเศษ ซึ่งเงินค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่ได้มีการปรับมาเป็นเวลานานกว่า 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะได้รับเงินค่าตอบแทนแปรผันตามรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งได้มีการกำหนดบัญชีอัตราเงินค่าตอบแทนจำแนกตามรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบล กล่าวคือ อบต. ที่มีรายได้ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป จะมีค่าตอบแทนรายเดือนตั้งแต่ 18,960 บาท จนถึง 22,080 บาท เงินประจำตำแหน่ง ตั้งแต่ 1,450 บาท จนถึง 2,000 บาท และเงินตอบแทนพิเศษ ตั้งแต่ 1,450 บาท จนถึง 2,000 บาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเงินค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิก อบต. โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฏว่า ร้อยละ 92.20 เห็นด้วยกับการปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารและสมาชิกสภา อบต. ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศใช้ “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566” ซึ่งเป็นการปรับปรุงอัตราเงินค่าตอบแทน โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อ 20 เมษายน 2566 แต่ให้มีการจ่ายค่าตอบแทนตามบัญชีอัตราเงินค่าตอบแทนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดช่วงอัตราเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นอยู่กับรายได้ของ อบต. ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ช่วง ดังนี้ 

 

  1. 1) รายได้ อบต. ไม่เกิน 10 ล้านบาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) จะได้รับเงินค่าตอบแทน รวม 25,800 บาทต่อเดือน ซึ่งมีอยู่จำนวน 1,012 แห่ง 
  2. 2) รายได้ อบต. เกิน 10-25 ล้านบาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) จะได้รับเงินค่าตอบแทน รวม 35,600 บาทต่อเดือน ซึ่งมีอยู่จำนวน 3,562 แห่ง
  3. 3) รายได้ อบต. เกิน 25-50 ล้านบาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) จะได้รับเงินค่าตอบแทน รวม 40,800 บาทต่อเดือน ซึ่งมีอยู่จำนวน 525 แห่ง
  4. 4) รายได้ อบต. เกิน 50-100 ล้านบาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) จะได้รับเงินค่าตอบแทน รวม 46,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีอยู่จำนวน 166 แห่ง
  5. 5) รายได้ อบต. เกิน 100-300 ล้านบาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) จะได้รับเงินค่าตอบแทน รวม 63,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีอยู่จำนวน 30 แห่ง 
  6. 6) รายได้ อบต. เกิน 300 ล้านบาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) จะได้รับเงินค่าตอบแทน รวม 75,530 บาทต่อเดือน ซึ่งมีอยู่จำนวน 8 แห่ง

ทั้งนี้ เงินค่าตอบแทนที่ปรับเพิ่มในครั้งนี้ มีอัตราเดียวกับบัญชีเงินค่าตอบแทนของเทศบาล ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนที่จะใช้งบประมาณจากรายได้ของ อบต. จากเดิม 9,522.05 ล้านบาท เป็น 13,774.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเงินค่าตอบแทนปัจจุบัน 4,252 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.66 เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของผู้บริหารและสมาชิกสภา อบต. องค์การบริหารส่วนตำบลถือว่ามีความสำคัญต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่สุด และใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่ชนบท อีกทั้งยังช่วยพัฒนาตำบลให้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอีกด้วย 

ภาพปก