การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและการขยายตัวของสังคมเมือง ประกอบกับอาเซียนเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีความต้องการใช้พลังงานในทุกกิจกรรมของภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3 ต่อปี ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ปี พ.ศ. 2559-2568 (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC 2016-2025) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความยั่งยืนด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงคำนึงถึงประเด็นด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 (ASEAN Vision 2025) และแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. 2025 (AEC Blueprint 2025) โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2559-2563 อาเซียนให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในภาพรวมของการใช้พลังงาน และการลดการใช้พลังงานในอาเซียน และระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2564-2568 อาเซียนให้ความสำคัญใน 7 สาขา ประกอบด้วย 1) ความร่วมมือด้านแผนพลังงานภูมิภาค 2) การเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน 3) การเชื่อมโยงท่อก๊าซอาเซียน 4) พลังงานทดแทน 5) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน 6) ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และ 7) ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานของอาเซียน และมีเป้าหมายการบรรลุสัดส่วนพลังงานทดแทนที่ร้อยละ 23 จากพลังงานทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2568 ทั้งนี้ หลายประเทศให้ความสำคัญเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากถ่านหินเป็นสาเหตุสำคัญที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคทางระบบประสาท ทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจ และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็ง เป็นต้น ทั้งนี้ ภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดประมาณ 2 ใน 3 ของโลก ข้อมูลองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) รายงานว่าปี พ.ศ. 2564 ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 4.08 หมื่นล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งร้อยละ 89 เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้พลังงาน และกระบวนการอุตสาหกรรม โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินมากกว่าร้อยละ 40 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหยุดการสร้างและขยายเหมืองถ่านหิน ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน และลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทุกชนิด เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน ค.ศ. 2050
ตัวอย่างประเทศที่ลดการใช้ถ่านหิน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หลายประเทศจะมีแผนลดการใช้ถ่านหินและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทุกชนิดรวมถึงตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2050 ซึ่งในแต่ละประเทศมีเงื่อนไขและขีดความสามารถที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจ และผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงทุกภาคส่วนต้องมีจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานทุกชนิดอย่างถูกต้อง ไม่เกิดการสูญเสีย ไม่ใช้พลังงานมากเกินความจำเป็น ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติและใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซพิษต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดภาวะโลกร้อน และช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ได้ตามที่แถลงต่อประชาคมโลก
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th