ฝนหลวงกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งภาคการเกษตร

Script Writer
พรรณทิภา นิลโสภณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารที่สำคัญของโลกสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก แต่จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง อุทกภัย วาตภัย ความคลาดเคลื่อนของฤดูกาลได้สร้างความเสียหายต่อการเพาะปลูกและการทำเกษตรกรรม ดังนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการของประเทศ มีบทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบหลักในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เพื่อให้เกิดฝนในปริมาณและการกระจายที่เหมาะสม วิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีการทำฝนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอันเนื่องมาจากความผันแปรของภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน และการบริหารจัดการด้านการบินในภารกิจการทำฝน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและภารกิจด้านการเกษตร เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การปฏิบัติการทำฝนหลวงที่ดำเนินการจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นการนำเทคโนโลยีที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเป็นหลักสำคัญในการทำงานโดยการทำฝนหลวงเป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า จะต้องใช้เครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของจำนวนเมฆ และสภาพของทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝน คือ ความร้อนชื้นปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม กล่าวคือ เมื่อมวลอากาศร้อนชื้นที่ระดับผิวพื้นขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศ จะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง หากอุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอก็จะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว เกิดกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำในมวลอากาศขึ้นบนแกนกลั่นตัวเกิดเป็นฝนตกลงมา ฉะนั้น สารเคมีที่ใช้จึงประกอบด้วยสูตรร้อนเพื่อใช้กระตุ้นเร่งเร้ากลไกการหมุนเวียนของบรรยากาศ สูตรเย็นใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้น เพื่อใช้กระตุ้นกลไกระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 

ทั้งนี้ ในปี 2567 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ของประเทศ โดยมีแผนในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 16 หน่วย และใช้อากาศยานรวมทั้งสิ้น 30 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 24 ลำ อากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 6 ลำ นอกจากนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ให้ความสำคัญในการศึกษาการใช้อากาศยานไร้นักบินหรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) ตามหลักแล้วอากาศยานไร้นักบิน คือ โดรน (Drone) เป็นอากาศยานที่ควบคุมจากระยะไกลใช้การควบคุมอัตโนมัติมี 2 ลักษณะ คือ

  1. 1) การควบคุมอัตโนมัติจากระยะไกล และ
  2. 2) การควบคุมแบบอัตโนมัติ

โดยใช้ระบบการบินด้วยตนเองซึ่งปกติแล้ว UAV นั้น จะนำมาใช้ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจที่ยากและอันตรายเกินกว่าที่จะใช้เครื่องบินที่มีนักบินปฏิบัติ เช่น การดับเพลิง การฉีดพ่นยาทางการเกษตร เป็นต้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เห็นประโยชน์ของ UAV จึงได้ร่วมกับศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์การบินและอวกาศกองทัพอากาศ โดยขอสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อดำเนินการ “โครงการวิจัยพัฒนาเครื่องบินเป้าอากาศไร้นักบินเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น” เนื่องจากในวันที่ช่วงสภาพอากาศปิด หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินทำฝนด้วยอากาศยานปกติ จึงมีแนวคิดที่จะนำ UAV ไปใช้ทำฝนในบริเวณกลุ่มเมฆเป้าหมายเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการทำฝนในวันนั้น อีกทั้งบริเวณพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงในการบินล้ำน่านฟ้า และเมื่อเปรียบเทียบประมาณการค่าใช้จ่ายการปฏิบัติการฝนหลวงโดยเครื่องบินมีต้นทุนรวม 204,675 บาท หากใช้ UAV ต้นทุนรวม 67,875 บาท จึงประหยัดงบประมาณในการดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 3 เท่า

ดังนั้น อากาศยานไร้นักบินหรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการนำมาใช้สำหรับปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อลดข้อจำกัดในประเด็นเครื่องบินไม่เพียงพอ ข้อจำกัดด้านสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในการขึ้นบินได้ และความก้าวหน้าทางการพัฒนาเทคโนโลยีจะส่งผลให้การผลิตอากาศยานไร้นักบินหรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) มีราคาต่ำลง จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโดยนำการเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำฝนหลวง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในการเพาะปลูก และการทำเกษตรกรรมของประเทศต่อไป

ภาพปก