ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ....

Script Writer
อนุชา ดีสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-06
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันมีสาเหตุมาจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของประชากรโลก เช่น กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า การกลั่นน้ำมัน การก่อสร้าง การขนส่ง การใช้ประโยชน์จากที่ดินและการเกษตร การจัดการขยะและของเสีย เป็นต้น สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสมดุลของธรรมชาติ ส่งผลให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น อุณหภูมิพื้นผิวโลกและน้ำทะเลร้อนขึ้น การเกิดพายุรุนแรงและถี่ขึ้น และภัยแล้งสาหัสมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาอาหารขาดแคลน ปัญหาสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ และปัญหาความยากจนและการพลัดถิ่นตามมา 

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นประเด็นความท้าทายที่ประชาคมระหว่างประเทศต่างให้ความสำคัญและร่วมมือกันในการแก้ปัญหา ซึ่งเห็นได้จากการจัดทำกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ค.ศ. 1992 พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ค.ศ. 1997 ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ค.ศ. 2015 และการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ซึ่งไทยได้ลงนามในกรอบอนุสัญญาและเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง/พิธีสารข้างต้นมาโดยลำดับ 

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และมีร่างพระราชบัญญัติทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ ได้แก่

  1. 1. ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... เสนอโดย นางสาวศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
  2. 2. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. .... เสนอโดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น

โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. 1. การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
  2. 2. การจัดตั้งกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้การสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทุกอุตสาหกรรมทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น การตรวจวัดและรับรองปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ หรือที่เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ การสนับสนุนการลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เป็นต้น
  3. 3. การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (GHG inventory) ภาคบังคับ กำหนดให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจขอข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้ประกอบการพลังงานและผู้ประกอบกิจการโรงงานใน 15 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า การก่อสร้าง การขนส่ง เหมืองถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อโลหะ เคมี โลหะ ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง อิเล็กทรอนิกส์ การใช้สารทดแทนสารทำลายชั้นโอโซน การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า กระดาษและเยื่อกระดาษ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรและปศุสัตว์
  4. 4. การลดก๊าซเรือนกระจก กำหนดให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจัดทำฐานข้อมูลในภาพรวมของประเทศ
  5. 5. การกำหนดระบบภาษีคาร์บอนและคาร์บอนเครดิต กำหนดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการซื้อขายสิทธิดังกล่าว เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม ผ่านกลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่มีความยืดหยุ่นสูง รวมทั้งพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีคาร์บอนแบบอัตราก้าวหน้าในสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกับระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS)
  6. 6. การดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านภูมิอากาศ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับคาดการณ์ ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ อีกทั้งมีการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้ง 6 สาขา ได้แก่ น้ำ เกษตร ท่องเที่ยว สาธารณสุข ทรัพยากร และตั้งถิ่นฐาน
  7. 7. บทกำหนดโทษ กำหนดให้มีการนำค่าปรับที่ได้จากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถจัดทำรายงานคาร์บอนและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แม้ร่างพระราชบัญญัติ ทั้ง 3 ฉบับ จะอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็น แต่ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมของสถานประกอบการและโรงงานได้โดยการตรวจวัดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในองค์กรและในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ

ภาพปก