ความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง

ความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง

ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 และวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ได้รับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กับคณะเป็นผู้เสนอ โดยมีหลักการและเหตุผลเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทั้งนี้ ในเอกสารวิชาการของสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เคยนำเสนอความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องของนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้กล่าวถึงประโยชน์ของระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร "แบบจัดสรรปันส่วนผสม" อาทิ 

1. เคารพเสียงของประชาชนทุกคะแนนจะไม่สูญเปล่า 
2. ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของพรรคการเมืองใด แต่มุ่งให้คะแนนของประชาชนมีน้ำหนักในการออกเสียงเลือกตั้งมากที่สุด 
3. เป็นการสร้างความปรองดอง คือ ให้คะแนนเฉลี่ยกับทุกพรรคตามความเหมาะสม 
4. สร้างระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย เลือกปรับใช้ในส่วนที่เป็นประโยชน์ 

นายคณิณ บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) ปี 2540 ได้กล่าวสรุปข้อเสียของการเลือกตั้งแบบกาบัตรใบเดียวไว้ 10 ประการ อาทิ 

1. ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เพราะในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี 2 ประเภท แต่กลับให้ประชาชนมีสิทธิเลือกได้เพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน พูดง่าย ๆ คือ มัดมือชกนั่นเอง 
2. เป็นการรอนสิทธิหรือบังคับจิตใจของประชาชนมิให้ "เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ" จึงทำให้ประชาชนมีสภาพเหมือนถูก "ขโมย" สิทธิที่จะลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 
3. ทำให้พรรคที่ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวนมากเท่าไร โอกาสที่จะได้นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อก็ลดน้อยลงเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริง 
4. ทำให้เป็นการยากที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภาที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ 
5. ทำให้พรรคการเมืองที่มีที่นั่งมากที่สุดในสภาอาจถูกผลักให้เป็นฝ่ายค้าน โดยพรรคอันดับสองและพรรคที่เหลือทั้งหมดจับมือกัน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการปกครองโดยเสียงข้างมาก "Majouity rule"
6. เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกและรัฐบาลผสม ที่พรรคอันดับหนึ่งไม่ได้เป็นรัฐบาลซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์และไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ตลอดจนไม่เชื่อมั่นในเสถียรภาพของรัฐบาล 
7. ทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอและตกอยู่ในวังวนของการแย่งชิง กดดัน ต่อรองตำแหน่งและผลประโยชน์จนผู้นำรัฐบาลทนต่อแรงเสียดทานไม่ไหว

 

ที่มา : ชงคชาญ สุวรรณมณี. (2561). การเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/533041)

ผู้จัดทำ :
ศิริพร โหตรภวานนท์, ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
อภิรดี เสียมศักดิ์, เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
วันที่