แนวทางป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อย่างเป็นระบบ

แนวทางป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อย่างเป็นระบบ

วิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในประเทศไทย ปี 2562 รุนแรงมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจขยายตัว จัดเป็นลำดับที่ 28 ของโลก และลำดับที่ 4 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมาร์ ตามลำดับ โดยมีค่าเฉลี่ย 24.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยและของโลกอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องได้รับแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพุธที่ 22 มกราคม 2563 ได้ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างเป็นระบบ เพื่อศึกษาแหล่งกำเนิดของปัญหา เพื่อศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ พบว่าแหล่งกำเนิดของปัญหา ได้แก่ การขนส่งคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง ไฟป่า และหมอกควันข้ามแดน ซึ่งมีความแตกต่างกันตามพื้นที่ โดยจากการคมนาคมพบมากในเขตพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีจราจรหนาแน่น จากภาคอุตสาหกรรมมีมากในเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จากการเผาที่โล่ง พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ที่มีการเพาะปลูก อ้อย ข้าว ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์จำนวนมาก และจากไฟป่าพบมากในภาคเหนือ ซึ่งมีพื้นที่ป่ามีพื้นที่ชุมชนมาก

ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาที่ต้นกำเนิดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด อีกทั้งการสะท้อนถึงความสำคัญและต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ข้อสังเกตคณะกรรมาธิการ มีดังนี้

(1) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ของฟรี มีต้นทุนในการใช้งาน เช่น ควรนำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ฯลฯ 
(2) กลไกตลาดสามารถนำมาใช้สะท้อนต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เช่น มีระบบการซื้อขายคาร์บอนตามกฎหมายหรือตลาดซื้อขายคาร์บอนโดยไม่ได้มีกฎหมายบังคับ ฯลฯ
(3) ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและจำเป็นต้องมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา เช่น ภาครัฐประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นกลาง มีความโปร่งใส และทันต่อสถานการณ์ ฯลฯ 
(4) ข้อสังเกตแบ่งตามแหล่งกำเนิด PM 2.5 อย่างเช่น บังคับติดตั้งอุปกรณ์กรองมลพิษ พิจารณานำน้ำมันมาตรฐาน Euro 5 มาใช้ มีกฎหมายทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ จัดตั้งศูนย์อำนวยการการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร และจัดตั้ง ASEAN Aerial Fire - Fighting Network เป็นต้น

 

ที่มา : คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ, สภาผู้แทนราษฎร. (2563). รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างเป็นระบบ. (https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/566782)

ผู้จัดทำ :
แสงอรุณ อนุเคราะห์, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
เจตนนาฎ สุวรรณดี, เจ้าพนักงานธุรการอาวุโส กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
วันที่