ศาสตร์ว่าด้วยการวิจัยอนาคตการณ์ I

ศาสตร์ว่าด้วยการวิจัยอนาคตการณ์ I

การวิจัยอนาคตการณ์ชี้ให้เห็นมิติต่าง ๆ ในสังคม

การวิจัยอนาคตการณ์ เป็นการวิจัยยุคใหม่และมีนักวิจัยรุ่นใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการให้ความสนใจกับการวิจัยอนาคตการณ์เพื่อนำมาช่วยพัฒนาให้เกิดแนวคิด แนวทางต่าง ๆ และเป็นเครื่องมือการวิจัยสำหรับการวิจัยอนาคตการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามกาลเวลา

ผู้แต่งได้ถ่ายทอดความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการวิจัยเชิงอนาคตการณ์ เทคนิควิธีการวิจัยอนาคตการณ์เชิงคุณภาพ เทคนิควิธีพยากรณ์เชิงปริมาณ โดยศึกษาในด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชากร การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม พลังงาน เทคโนโลยี กฎหมาย หรือศึกษาปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาอุทกภัย ปัญหาภัยแล้ง ปัญหายาเสพติด ปัญหาการคอร์รัปชัน เป็นต้น และดูเหมือนว่าบางปัญหายิ่งแก้ไขยิ่งหนักมากขึ้น เหตุเพราะยังใช้กระบวนการแก้ปัญหาที่ยึดติดกับแนวคิดเดิม หากใช้ประโยชน์จากการวิจัยอนาคตการณ์ที่ถูกต้องและเข้มแข็ง จะชี้ให้เห็นถึงอนาคตทางเลือกที่หลากหลาย โดยเป็นอนาคตที่พึงปรารถนาและความเป็นไปได้ ที่สามารถนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนงาน การวางแผนระยะสั้น ช่วง 5 ปี ในระยะกลาง ช่วงเวลา 5-15 ปี และในระยะยาว ช่วงเวลา 15-50 ปี ช่วงระยะเวลาอาจแตกต่างกันตามเทคนิควิธีที่ใช้ในการศึกษา ทั้งนี้ มีประเทศที่พัฒนาแล้วได้นำการวิจัยดังกล่าวมาศึกษาและนำมาใช้ประโยชน์จนกระทั่งประสบความสำเร็จ

หนังสือเล่มนี้จะเป็นศาสตร์ที่ศึกษาอนาคตของปรากฏการณ์ข้างหน้า ที่ยังไม่เกิดขึ้นในทุกเรื่อง ทุกประเด็น ทุกภาคส่วน ทุกระดับ ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน ไปจนถึงระดับประเทศซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและการวิจัยเพื่อวางแผนพัฒนาด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย

หนังสือ "ศาสตร์ว่าด้วยการวิจัยอนาคตการณ์ I" นี้พร้อมให้บริการ ท่านที่สนใจสามารถมาใช้บริการได้ที่หอสมุดรัฐสภา

 

ที่มา : สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์. (2561). ศาสตร์ว่าด้วยการวิจัยอนาคตการณ์ I. [CB 158 ส761ศ 2561]

ผู้จัดทำ :
จินตนา เอี่ยมคง, บรรณารักษ์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
วศินี มั่นกลัด, เจ้าพนักงานธุรการอาวุโส กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
วันที่