การเสวนาเชิงนโยบาย (TSRI Policy Forum) เรื่อง “ฉากทัศน์การจัดบริการสาธารณะของ อปท. กับประมวลกฎหมาย อปท.: จะไปทางไหน ???” วันพุธที่ 20 เมษายน 2565 เวลา 09.00-12.00 นาฬิกา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ด้วยโปรแกรม Zoom Meeting โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนาประมาณ 70 คน เป็นบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 23 คน ประกอบด้วย สำนักกรรมาธิการ 1 จำนวน 1 คน สำนักกรรมาธิการ 2 จำนวน 3 คน สำนักกรรมาธิการ 3 จำนวน 2 คน และสำนักวิชาการ จำนวน 17 คน
การเสวนาดังกล่าวมีผู้ทรงคุณวุฒินำเสนอโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่
- โครงการวิจัย เรื่อง การประหยัดจากขนาดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและวิเคราะห์ศักยภาพการควบรวมท้องถิ่นขนาดเล็ก นำเสนอโดย ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- โครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาระบบบริหารจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำเสนอโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- โครงการวิจัย เรื่อง การจัดบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก เสนอโดย ดร.บัญชร ส่งสัมพันธ์ กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง
มุมมองต่อฉากทัศน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอนาคต
- กฎหมายหลายฉบับสร้างความกังวลให้กับท้องถิ่น ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ท้องถิ่นจะสามารถดำเนินการในเรื่องใดได้บ้างที่แตกต่างไปจากเดิม
- ควรนำเรื่องสำคัญมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรคำนึงถึงหลักการต่าง ๆ อาทิ หลักผลประโยชน์มหาชน
- หลักการสำคัญในการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเน้นเรื่องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น
- ฉากทัศน์ในอนาคตจะต้องขจัดความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่มีประสิทธิภาพ
- จะต้องมีกฎหมายกระจายรายได้ที่เหมาะสม
- ประมวลกฎหมายท้องถิ่นที่ควรประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ
- 1) การทำให้ท้องถิ่นมีตัวตนตามกฎหมาย กล่าวคือ การเสริมสร้างบทบาทของท้องถิ่นให้สามารถดำเนินการด้านต่าง ๆ ด้วยตัวเองอย่างเป็นรูปธรรม
- 2) กำหนดเรื่องที่ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ หรือเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจน และ
- 3) กำหนดกลไกที่ทำให้ทุกอย่างสามารถดำเนินการต่อไปได้
กล่าวโดยสรุป ฉากทัศน์การจัดบริการสาธารณะของ อปท. กับประมวลกฎหมาย อปท. เป็นการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างครอบคลุมภารกิจของท้องถิ่นในทุกมิติ โดยการศึกษาวิจัยเรื่อง “การประหยัดจากขนาดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและวิเคราะห์ศักยภาพการควบรวมท้องถิ่นขนาดเล็ก” ทำให้ทราบขนาดของ อปท. ที่เหมาะสม และคุณภาพของบริการสาธารณะท้องถิ่น รวมทั้งมาตรการควบรวมจะส่งผลดีในแง่การลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง อปท. และเกิดผลดีต่อการจัดสรรทรัพยากร เกิดการประหยัด และคุณภาพบริการสาธารณะดีขึ้น รวมทั้งแนวทางการควบรวมที่น่าจะเป็นไปได้ คือ การควบรวมโดยสมัครใจ สำหรับงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบบริหารจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ทำให้ทราบข้อบ่งชี้ของการพัฒนารายได้ท้องถิ่นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การดูแลประชาชนในระดับฐานรากโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทำได้สำเร็จ ซึ่งการพัฒนารายได้ท้องถิ่นที่เป็นรูปธรรมนี้ สามารถเริ่มต้นได้จากการพัฒนาเชิงระบบฐานข้อมูลเพื่อการจัดเก็บภาษี ในระยะยาวควรมีการผลักดันหรือขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเชิงระบบดังกล่าวร่วมกันกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจร่วมมือกับภาคประชาสังคม หรือเรียกว่ามีการสร้าง “ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการบริหารจัดเก็บภาษี (Taxpayer’s Big Database)” และงานวิจัยเรื่อง “การจัดบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก” พบว่า การดำเนินงานของ อปท. ขนาดเล็กมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณและความคุ้มค่าในการจัดบริการสาธารณะ ปัญหาหลักของการขาดประสิทธิภาพในการจัดการบริการสาธารณะมาจากวิธีการดำเนินงานของกิจกรรมบางประเภทนั้นสามารถร่วมดำเนินการได้ เนื่องจากการบริการสาธารณะบางประเภทมีจุดความคุ้มค่าสูง หรือประสิทธิภาพเกิดจากการประหยัดต่อหน่วยผลิต (Economies of Scales) ด้วยเหตุนี้รูปแบบการจัดบริการสาธารณะบางประเภทของ อปท. ที่มีพื้นที่ติดต่อกันควรมีการจัดบริการสาธารณะร่วมกัน จากงานวิจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นร่างกฎหมาย อปท. ทั้ง 2 ฉบับ ยังมีจุดบกพร่องหลายประการ ดังนั้น ฉากทัศน์ในอนาคตของ อปท. จะต้องขจัดความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่มีประสิทธิภาพ จะต้องมีกฎหมายกระจายรายได้ที่เหมาะสม มีความยืดหยุ่นและปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ตลอดจนสามารถรองรับศักยภาพของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
นายคณาธิป ไกยชน, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ