ญัตติ

ญัตติ

ญัตติ หมายถึง เรื่อง ปัญหา หรือประเด็น ที่สมาชิกรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา เพื่อให้มีการลงมติในเรื่อง ปัญหาหรือประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ความหมายอย่างกระชับและกะทัดรัด “ญัตติ” คือ ข้อเสนอเพื่อลงมติ ส่วนความหมายอย่างกว้างนั้น ญัตติ คือ ข้อเสนอใด ๆ ที่มีความมุ่งหมายจะให้รัฐสภาลงมติหรือวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป และมีความหมาย ดังนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของญัตติว่า “ญัตติ” น. ข้อเสนอ เพื่อลงมติ เช่น ผู้แทนราษฎรเสนอญัตติเข้าสู่สภาเพื่อขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 44 ให้ความหมายว่า “ญัตติ คือ ข้อเสนอใด ๆ ที่มีความมุ่งหมายให้สภาลงมติหรือชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป” 

ทั้งนี้ ญัตติแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ญัตติกรณีที่ต้องมีผู้รับรอง เช่น ญัตติขอให้สภามีมติให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดเข้าร่วมประชุมในเรื่องใดในที่ประชุม และญัตติขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการหรือขอให้คณะกรรมาธิการสามัญคณะใดคณะหนึ่งกระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภา และญัตติกรณีที่ไม่ต้องมีผู้รับรอง เช่น ญัตติขอให้ประชุมลับและญัตติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เป็นต้น นอกจากนี้ ญัตติยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ญัตติที่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ผู้เสนอและผู้รับรองต้องลงลายมือชื่อในญัตตินั้น ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 59  

2. ญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ให้ผู้รับรองญัตติแสดงการรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศีรษะตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 60

คำว่า “ญัตติ” มีการบัญญัติไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและในข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภา โดย “ญัตติ” ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมือง ซึ่งมีผลกระทบและมีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเมืองของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เช่น ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตามมาตรา 151 ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 และญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ส่วน “ญัตติ” ที่ได้มีการกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภา เช่น ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดเข้าร่วมประชุมในเรื่องใดในที่ประชุม หรือญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ หรือขอให้คณะกรรมาธิการสามัญคณะใดคณะหนึ่งกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภาจะได้วางหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในรายละเอียดเกี่ยวกับการเสนอญัตติไว้เพื่อให้กระบวนการของรัฐสภาเป็นไปโดยเรียบร้อยและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย 

การเสนอญัตติต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภา ได้แก่ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ส่วนที่ 2 ข้อ 44 ถึงข้อ 65 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 35 ถึงข้อ 51 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ส่วนที่ 2 ข้อ 29 ถึงข้อ 41 ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญในเรื่องดังต่อไปนี้ 

1. ผู้มีสิทธิเสนอญัตติ อาจเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด แล้วแต่กรณี หากเป็นการเสนอญัตติโดยทั่วไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรื่องที่เสนออาจเป็นเรื่องที่อยู่ในกรอบหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร เป็นเรื่องที่ตนสนใจ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน หรืออยู่ในความสนใจของประชาชน ซึ่งโดยปกติการเสนอญัตติจะต้องมีผู้เสนอตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ยกเว้นในกรณีที่มีการกำหนดจำนวนผู้เสนอไว้โดยเฉพาะ เช่น ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอไว้โดยเฉพาะว่าต้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น

2. วิธีการเสนอญัตติ ต้องเสนอล่วงหน้า เป็นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี และต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับของแต่ละสภากำหนด เว้นแต่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ หากเป็นญัตติที่เสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ผู้เสนอและผู้รับรองต้องลงลายมือชื่อในญัตตินั้น แต่หากเป็นญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ให้ผู้รับรองญัตติแสดงการรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศีรษะ 

3. ข้อห้ามในการเสนอญัตติ เช่น เมื่อที่ประชุมของแต่ละสภากำลังปรึกษาหรือพิจารณาญัตติใดอยู่ ห้ามเสนอญัตติอื่นขึ้นมาพิจารณา เว้นแต่จะเป็นญัตติที่ได้กำหนดไว้ให้สามารถกระทำได้

4. การแก้ไขเพิ่มเติมญัตติหรือการถอนญัตติ หากญัตตินั้นประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี สั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมหรือถอนญัตติจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของที่ประชุม

5. การถอนชื่อจากการเป็นผู้ร่วมกันเสนอญัตติ หรือจากการเป็นผู้รับรองจะกระทำได้เฉพาะก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี สั่งบรรจุญัตตินั้นเข้าระเบียบวาระการประชุม แต่หากได้มีการสั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้วจะถอนชื่อได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของที่ประชุม

6. ญัตติจะตกไปในกรณีที่ญัตตินั้นถึงวาระพิจารณาในการประชุมแล้ว ผู้เสนอญัตติไม่ชี้แจงในที่ประชุม หรือผู้เสนอญัตติไม่อยู่ในที่ประชุมโดยไม่มีผู้ชี้แจงแทนในฐานะผู้รับมอบหมาย 

7. ญัตติที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานจะอนุญาตในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป

คำสำคัญ :
ญัตติ
ผู้จัดทำ :
อริย์ธัช แก้วเกาะสะบ้า, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่เผยแพร่ :