แถลงนโยบาย

แถลงนโยบาย

แถลงนโยบาย หมายถึง ภารกิจสำคัญที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ โดยขั้นตอนและกระบวนการของรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อบุคคลอีกจำนวนไม่เกิน 35 คนขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง โดยก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์และหลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่

ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้ (ตามบทบัญญัติมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)

ทั้งนี้ การแถลงนโยบายนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน (ตามบทบัญญัติมาตรา 156 (12) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)

อนึ่ง ในอดีตที่ผ่านมาได้เคยมีการกำหนดให้การแถลงนโยบายจะต้องได้รับความไว้วางใจของรัฐสภา ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 70 ได้กำหนดว่าในการดำเนินนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจของรัฐสภา และรัฐมนตรีทั้งคณะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อรัฐสภาไม่ให้ความไว้วางใจ

2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 มาตรา 77 ประกอบมาตรา 78 ได้กำหนดว่าในการดำเนินนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจของรัฐสภา และรัฐมนตรีทั้งคณะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อรัฐสภาไม่ให้ความไว้วางใจ

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มาตรา 145 ประกอบมาตรา 146 ได้กำหนดว่าในการดำเนินนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจของสภาผู้แทน คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินจะต้องแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนและต่อวุฒิสภาตามลำดับ การลงมติให้ความไว้วางใจหรือไม่ให้ความไว้วางใจคณะรัฐมนตรีนั้น ให้สภาผู้แทนกระทำภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อวุฒิสภาแล้ว ในการที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อวุฒิสภานั้น วุฒิสภาอาจตั้งข้อสังเกตส่งไปยังสภาผู้แทนเพื่อประกอบการพิจารณาของสภานั้นได้

4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 มาตรา 184 ได้กำหนดว่าคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความไว้วางใจ มติให้ความไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม

ต่อจากนั้น นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 เป็นต้นมา จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ

คำสำคัญ :
แถลงนโยบาย
ผู้จัดทำ :
อานันท์ เกียรติสารพิภพ, นิติกรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วิริยะ คล้ายแดง, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
จีรณัทย์ ชาญเชิงพานิช, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่เผยแพร่ :