ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน

ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน

ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  1. 1. การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร
  2. 2. การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน
  3. 3. การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ
  4. 4. เงินตรา

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้น มีกระบวนการทางนิติบัญญัติที่แตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติทั่วไป ในแต่ละกรณี กล่าวคือ

ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ
กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน เป็นผู้เสนอ หรือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5หน้าที่ของรัฐ จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี ชั้นก่อนรับหลักการในวาระที่ 1 กรณีที่เป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย โดยให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจัดให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว  มติของที่ประชุมร่วมกัน ให้ใช้เสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ชั้นพิจารณาในวาระที่ 2
ร่างพระราชบัญญัติใดที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้เสนอ และในชั้นรับหลักการไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน แต่สภาผู้แทนราษฎรได้แก้ไขเพิ่มเติมและประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นเองหรือมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทักท้วงต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทำให้มีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งระงับการพิจารณาไว้ก่อน เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย

ในกรณีที่ที่ประชุมร่วมกันวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมทำให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นมีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นไปให้นายกรัฐมนตรีรับรอง ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรอง ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการแก้ไขเพื่อมิให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน

ชั้นลงมติในวาระที่ 3 
เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินและลงมติเห็นชอบแล้วให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้นต่อวุฒิสภา และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้วุฒิสภาทราบและให้ถือเป็นเด็ดขาด หากมิได้แจ้ง ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ทั้งนี้ วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้นให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้นมาถึงวุฒิสภา เว้นแต่วุฒิสภาจะได้ลงมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน ถ้าวุฒิสภาพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนดเวลา ให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น

คำสำคัญ :
ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน
ผู้จัดทำ :
ณัฐพล ยิ่งกล้า, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
สุริยา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่เผยแพร่ :