สมัยประชุม

สมัยประชุม

สมัยประชุม หมายถึง ระยะเวลาการประชุมรัฐสภาที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าในปีหนึ่งรัฐสภาจะมีการประชุมกี่ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลานานเท่าใด หลักการกำหนดสมัยประชุมได้มีการบัญญัติครั้งแรกไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และยังคงถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สมัยประชุมจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะส่งผลกระทบและผูกพันต่อกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ “สมัยประชุม” แบ่งได้ ดังนี้ 

1. สมัยประชุมสามัญ
หมายถึง สมัยประชุมของรัฐสภาตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้กำหนดให้ในปีหนึ่งมีสมัยประชุมสามัญ 2 สมัย ๆ ละ 120 วัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้ โดยให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมครั้งแรกภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้กำหนดต่อไป ทั้งนี้ ในกรณีที่การประชุมครั้งแรกมีเวลาจนถึงสิ้นปีปฏิทินไม่เพียงพอที่จะจัดให้มีการประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง จะไม่มีการประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สองสำหรับปีนั้นก็ได้ (มาตรา 121)

2. สมัยประชุมวิสามัญ หมายถึง สมัยประชุมของรัฐสภาซึ่งเป็นการเรียกประชุมรัฐสภาขึ้นเป็นกรณีพิเศษเมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐนอกเหนือจากสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา การประชุมสมัยวิสามัญจะไม่มีการกำหนดระยะเวลา การประชุมสมัยวิสามัญสามารถกระทำได้ใน 3 กรณี ดังนี้

2.1 เมื่อมีเรื่องจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้ (มาตรา 122) 

2.2 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภา เป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้โดยให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (มาตรา 123) 

2.3 ในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าด้วยเหตุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ หรือเหตุอื่นใด จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้เว้นแต่ มีกรณีที่รัฐสภาต้องดำเนินการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 17) การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา (มาตรา 19) การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 (มาตรา 20) การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ (มาตรา 21) และการให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม (มาตรา 177)  หรือมีกรณีที่วุฒิสภาต้องประชุมเพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้วุฒิสภาดำเนินการประชุมได้โดยให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการ ประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญและให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (มาตรา 126) 

การเรียกประชุม การขยายเวลาประชุม และการปิดประชุมรัฐสภา ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา แต่หากเป็นกรณีการเรียกประชุมสมัยวิสามัญ ตามมาตรา 123 และมาตรา 126 ให้ประธานรัฐสภา หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ และให้ประธานรัฐสภา หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ทั้งนี้ เมื่อปิดสมัยประชุมแล้วสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะทำการประชุมไม่ได้ 

คำสำคัญ :
สมัยประชุม
สมัยประชุมสามัญ
สมัยประชุมวิสามัญ
การเรียกประชุม
ผู้จัดทำ :
สิริพิชญ์ชนก คุณประเสริฐ, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
เปรม ถาวรประภาสวัสดิ์, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่เผยแพร่ :