งดเว้นการออกเสียง หมายถึง การที่สมาชิกสภาไม่ออกเสียงหรืองดการแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตติหรือข้อปรึกษาที่ต้องมีการลงมติในที่ประชุมสภา
เมื่อมีการเสนอญัตติหรือข้อปรึกษาต่อสภาที่ต้องมีการลงมติเพื่อให้สภาตัดสินใจหรือวินิจฉัยแล้ว ประธานในที่ประชุมสภาจะถามมติของที่ประชุม และสมาชิกสภาที่อยู่ในที่ประชุมก็จะออกเสียงลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตตินั้น แต่ในบางกรณีที่สมาชิกสภาอาจจะยังไม่ตัดสินใจหรือหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น ก็สามารถใช้วิธีการงดเว้นการออกเสียงเฉพาะประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้ ซึ่งถือเป็นสิทธิของสมาชิกสภาที่สามารถทำได้ซึ่งไม่ถือว่าขัดข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 แล้วแต่กรณี
การงดเว้นการออกเสียงในการลงมติโดยเปิดเผยมีวิธีดำเนินการ ดังนี้ 1) การลงมติโดยใช้วิธีการเรียกชื่อสมาชิกสภาเป็นรายบุคคล สมาชิกสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียง ต้องกล่าวคำว่า “งดเว้นการออกเสียงหรืองดออกเสียง” เมื่อเลขาธิการสภาเรียกชื่อตน 2) การลงมติโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน สมาชิกสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงจะต้องสอดบัตรและกดปุ่มงดเว้นการออกเสียง และ 3) การลงมติโดยใช้วิธีการยกมือพร้อมแสดงบัตรลงคะแนนซึ่งมีเฉพาะในวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงต้องยกมือพร้อมแสดงบัตรลงคะแนนสีขาว
การงดเว้นการออกเสียงในการลงมติเป็นการลับมีวิธีการดำเนินการ ดังนี้ 1) การลงมติโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน สมาชิกสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงจะต้องสอดบัตรและกดปุ่มงดเว้นการออกเสียง 2) การลงมติโดยใช้บัตรออกเสียงลงคะแนน หากเป็นการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเขียนเครื่องหมายกากบาท (x) ลงในช่องทำเครื่องหมายหน้าคำว่างดเว้นการออกเสียงหรืองดออกเสียง แต่หากเป็นการดำเนินการในวุฒิสภาหรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกรัฐสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงต้องเขียนเครื่องหมายวงกลม (O) บนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้
คะแนนเสียงของสมาชิกสภาที่งดเว้นการออกเสียงไม่นำมานับรวมเป็นเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จึงไม่มีผลในทางสนับสนุนหรือคัดค้านฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในกรณีที่ใช้เสียงข้างมากธรรมดาในการชี้ขาดญัตติหรือข้อปรึกษานั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการชี้ขาด การงดเว้นการออกเสียงก็อาจมีผลเท่ากับเป็นการไม่เห็นด้วยกับญัตตินั้นได้ เช่น ในกรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 151 ซึ่งกำหนดให้มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การงดเว้นการออกเสียงจึงทำให้เกิดผลเท่ากับว่าไม่เห็นด้วยกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนั้นนั่นเอง
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 หอสมุดรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เลขที่ 1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : +66(0) 2242 5900 ต่อ 5711, 5714, 5721-22 โทรสาร : +66(0) 2242 5990
อีเมล : library@parliament.go.th