ถวายสัตย์ปฏิญาณ

ถวายสัตย์ปฏิญาณ

ถวายสัตย์ปฏิญาณ หมายถึง การแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นประมุขแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษาและตุลาการ ต้องกระทำก่อนเข้ารับหน้าที่ การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระมหากษัตริย์ และการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำต่อพระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ ในระหว่างที่ยังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนก็ได้

ทั้งนี้ การถวายสัตย์ปฏิญาณมีความแตกต่างกับการปฏิญาณตน คือ การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ในขณะที่การปฏิญาณตนเป็นการกระทำต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์หรือพระบรมฉายาลักษณ์ขององค์พระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติให้มีการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไว้ในมาตรา ดังต่อไปนี้

มาตรา 13 ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

นอกจากนั้น มาตรา 161 วรรคสอง ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินไปพลางก่อนที่จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณได้ และเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ จะมีผลให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิมที่อยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ทั้งนี้ เพื่อมิให้การถวายสัตย์ปฏิญาณทำให้เกิดความล่าช้าในการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี

มาตรา 191 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ”

คำสำคัญ :
ถวายสัตย์ปฏิญาณ
ผู้จัดทำ :
อริย์ธัช แก้วเกาะสะบ้า, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่เผยแพร่ :