การถ่ายทอดการประชุมสภา

การถ่ายทอดการประชุมสภา

การถ่ายทอดการประชุมสภา หมายถึง การประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีลักษณะเปิดเผยและมีการเผยแพร่การประชุมปรากฏออกไปภายในหรือภายนอกบริเวณรัฐสภา โดยการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ รวมถึงสื่อสารสนเทศประเภทอื่นตามวิธีการของข้อบังคับการประชุมแต่ละสภา เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูล และมีส่วนร่วมในการติดตามกระบวนการทางการเมือง ยกเว้นในกรณีที่เป็นการประชุมลับจะงดการถ่ายทอดการประชุมสภา เนื่องจากอาจกระทบต่อบุคคลภายนอก หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐ และเพื่อให้การอภิปรายสามารถกระทำได้อย่างเต็มที่โดยสุจริต ซึ่งการถ่ายทอดการประชุมสภาถือเป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมพฤติกรรมการอภิปรายให้มีความระมัดระวัง มุ่งเน้นคุณภาพและเนื้อหาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 124 กำหนดว่าในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใด ๆ มิได้ แต่เอกสิทธิ์ดังกล่าวนั้นไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใด หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น นอกจากนี้ เอกสิทธิ์ยังคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมตามข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี และคุ้มครองไปถึงบุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ตลอดจนผู้ดำเนินการถ่ายทอดการประชุมสภาทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใดซึ่งได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภานั้นด้วยโดยอนุโลม

อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดการประชุมสภาอาจทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาได้รับความเสียหาย ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดให้ประธานสภาจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงได้ตามที่มีผู้ร้องขอตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับการประชุม โดยไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลในการฟ้องคดีต่อศาล 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เพียงกำหนดถึงการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น ยังกำหนดให้มีการเผยแพร่การประชุมโดยให้รวมถึงทางอื่นใดที่จะเกิดมีขึ้นได้ในอนาคตทั้งสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ๆ อีกด้วย

การถ่ายทอดการประชุมสภาและการจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงเนื่องจากในการถ่ายทอดการประชุมสภาอาจทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาได้รับความเสียหายนั้นได้กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม 

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562

ข้อ 18 วรรคสองและวรรคสาม กำหนดให้ การประชุมเปิดเผย ให้บุคคลภายนอกเข้าฟังการประชุมได้ตามระเบียบที่ประธานสภากำหนดและประธานสภาต้องจัดให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หรือทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่ประชาชนทั่วไปสามารถรับได้อย่างทั่วถึง โดยจัดให้มีล่ามภาษามือด้วย เว้นแต่มีเหตุขัดข้องให้แจ้งที่ประชุมทราบ และในกรณีที่ไม่สามารถถ่ายทอดสดการประชุมตามวรรคสองได้ ให้ประธานสภาจัดให้มีการเผยแพร่บันทึกภาพและเสียงการประชุมดังกล่าวผ่านทางสื่อที่เหมาะสมโดยเร็ว 

ข้อ 39 ในกรณีที่สมาชิกกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น อันอาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือสมาชิกได้รับความเสียหาย บุคคลนั้นมีสิทธิร้องขอต่อประธานสภาภายในกำหนดเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่มีการประชุมครั้งนั้น เพื่อให้มีการโฆษณาคำชี้แจง โดยการยื่นคำร้องต้องทำเป็นหนังสือพร้อมคำชี้แจงประกอบข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนและอยู่ในประเด็นที่ผู้ร้องอ้างว่าก่อให้เกิดความเสียหายเท่านั้น

ข้อ 40 ให้เป็นอำนาจของประธานสภาที่จะวินิจฉัยว่าคำร้องและคำชี้แจงที่ผู้ร้องกล่าวอ้างมานั้นเป็นไปตามข้อ 39 หรือไม่ และให้ประธานสภาวินิจฉัยคำร้องและคำชี้แจงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง แต่หากเป็นกรณีที่ประธานสภาวินิจฉัยว่าคำร้องและคำชี้แจงไม่เป็นไปตามข้อ 39 ให้ยกคำร้องเสียและแจ้งให้ผู้ร้องทราบ โดยคำวินิจฉัยของประธานสภาให้ถือเป็นเด็ดขาด

ข้อ 41 ในกรณีที่ประธานสภาได้วินิจฉัยคำร้องและคำชี้แจงให้เป็นไปตามข้อ 39 ให้ประธานสภาจัดให้มีการโฆษณาโดยวิธีปิดประกาศคำชี้แจงไม่น้อยกว่า 7 วัน ไว้ ณ บริเวณสภาที่ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ และโฆษณาโดยวิธีการอื่นตามที่ประธานสภาเห็นสมควร

ข้อ 42 เมื่อประธานสภาดำเนินการตามข้อ 41 แล้ว ให้แจ้งผู้ร้อง ผู้กล่าวถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย และที่ประชุมรับทราบในโอกาสแรกที่มีการประชุม

ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562

ข้อ 13 วรรคสอง กำหนดให้ในการประชุมวุฒิสภาเฉพาะที่เป็นการเปิดเผย ให้บุคคลภายนอกเข้าฟังการประชุมได้ตามระเบียบที่ประธานวุฒิสภากำหนดไว้ และให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการถ่ายทอดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ และจัดให้มีการถ่ายทอดการประชุมทางเครื่องขยายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์วงจรปิดภายในบริเวณของรัฐสภา รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น และล่ามภาษามือ หากมีเหตุขัดข้องให้แจ้งที่ประชุมทราบ ทั้งนี้ อาจจัดให้มีคำบรรยายแทนเสียงด้วยก็ได้

ข้อ 191 กำหนดให้ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายประสงค์จะให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามมาตรา 124 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ ให้บุคคลนั้นยื่นคำร้องขอต่อประธานวุฒิสภาตามแบบที่กำหนด ทั้งนี้ ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่สมาชิกกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมวุฒิสภา โดยคำร้องขอนั้นต้องมีข้อความเป็นข้อเท็จจริงโดยไม่มีลักษณะเป็นความผิดอาญา หรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น และเมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องขอดังกล่าว ให้ส่งคำร้องขอนั้นไปยังสมาชิกผู้กล่าถ้อยคำโดยเร็ว เพื่อให้สมาชิกผู้นั้นทำคำชี้แจงเสนอต่อประธานวุฒิสภาภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอดังกล่าว และให้เลขาธิการวุฒิสภาดำเนินการโฆษณาคำชี้แจงดังกล่าวด้วยวิธีปิดประกาศไว้ ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มีกำหนดระยะเวลา 7 วันนับแต่วันที่ประธานวุฒิสภาเห็นควรจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจง และให้ส่งสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำเพื่อทราบด้วย

ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563

ข้อ 9 วรรคสองและวรรคสาม กำหนดให้ในการประชุมเปิดเผย ให้บุคคลภายนอกเข้าฟังการประชุมรัฐสภาได้ตามระเบียบที่ประธานรัฐสภากำหนด และให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถรับได้อย่างทั่วถึง โดยจัดให้มีล่ามภาษามือด้วยเว้นแต่มีเหตุขัดข้องให้แจ้งที่ประชุมทราบ และในกรณีที่ไม่สามารถถ่ายทอดสดการประชุมได้ ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการเผยแพร่บันทึกภาพและเสียงการประชุมดังกล่าวผ่านสื่อที่เหมาะสมโดยเร็ว 

ข้อ 153 กำหนดให้ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายประสงค์จะให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามมาตรา 124 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ ให้บุคคลนั้นยื่นคำร้องขอต่อประธานรัฐสภาตามระเบียบที่ประธานรัฐสภากำหนด โดยคำร้องขอต้องมีข้อความเป็นข้อเท็จจริงโดยไม่มีลักษณะเป็นความผิดอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น และให้ประธานรัฐสภาพิจารณาคำร้องขอดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ในกรณีที่ประธานรัฐสภาเห็นสมควรโฆษณาคำชี้แจงดังกล่าว ให้เลขาธิการรัฐสภาดำเนินการโฆษณาคำชี้แจงดังกล่าวด้วยวิธีปิดประกาศไว้ ณ บริเวณรัฐสภาที่ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ มีกำหนดระยะเวลา 7 วันนับแต่วันที่ประธานรัฐสภาเห็นสมควรจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจง และให้ส่งสมาชิกรัฐสภาเพื่อทราบ ในการนี้ ประธานรัฐสภาอาจจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงนั้นโดยวิธีการอื่นด้วยก็ได้

คำสำคัญ :
การถ่ายทอดการประชุมสภา
การประชุมสภา
ผู้จัดทำ :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่เผยแพร่ :