นับคะแนนเสียง

นับคะแนนเสียง

นับคะแนนเสียง หมายถึง การคำนวณการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกเพื่อให้ได้ผลการลงมติในเรื่องที่ประธานในที่ประชุมขอมติว่ามีสมาชิกออกเสียงเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียงเป็นจำนวนเท่าใด สมาชิกคนหนึ่งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น ซึ่งคะแนนเสียงที่ได้จากการลงคะแนนเสียงเป็นที่ยุติแล้ว ประธานในที่ประชุมจะประกาศผลคะแนนเสียงที่นับได้ให้ที่ประชุมทราบและคะแนนเสียงที่ได้จะต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ในอดีตที่ผ่านมา ข้อบังคับการประชุมสภาจะกำหนดให้การนับคะแนนเสียงโดยเปิดเผยมีวิธีที่แตกต่างจากปัจจุบันอยู่ 2 วิธีคือ จะใช้นับจำนวนมือโดยประธานในที่ประชุมจะให้สมาชิกยกมือขึ้นพ้นศีรษะเป็นวิธีที่ 1 หรือนับโดยวิธีให้ยืนขึ้นเป็นวิธีที่ 2 ต่อมาเพื่อให้การนับคะแนนเสียงเป็นไปด้วยความรวดเร็วและถูกต้องข้อบังคับการประชุมสภาจึงกำหนดให้ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน โดยกำหนดในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2544 เป็นครั้งแรก กล่าวคือ การออกเสียงลงคะแนนไม่ว่าจะเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยหรือลงคะแนนลับ วิธีที่ 1 จะใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน ซึ่งจะใช้บัตรเสียบในเครื่องตามที่นั่งของสมาชิก เมื่อประธานสั่งให้สมาชิกออกเสียงลงคะแนน สมาชิกจะต้องกดปุ่มแสดงตนแล้วจึงกดปุ่มเลือกว่าจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียงเพียง 1 ปุ่มเท่านั้น การออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกซึ่งเข้ามาภายหลังก่อนประธานสั่งปิดนับคะแนน สมาชิกอาจออกเสียงลงคะแนนได้ก่อนประธานสั่งปิดการนับคะแนน เมื่อการออกเสียงลงคะแนนสิ้นสุด ประธานจะสั่งให้นับคะแนนเสียงโดยเครื่องออกเสียงลงคะแนน จากนั้นเครื่องออกเสียงลงคะแนนจะคำนวณรวมคะแนนเสียงที่สมาชิกแต่ละคนออกเสียงลงคะแนนและบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกไว้ เมื่อได้นับคะแนนเสียงแล้ว ให้ประธานประกาศมติต่อที่ประชุมทันที ถ้าเรื่องใดที่รัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือข้อบังคับกำหนดไว้ว่ามติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใด ก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงข้างมากถึงจำนวนที่กำหนดไว้หรือไม่ 

ทั้งนี้ บันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกได้ แต่การออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ ถ้าได้ประกาศมติต่อที่ประชุมแล้ว ให้ประธานสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำลายบัตรออกเสียงหรือลบข้อมูลการออกเสียงลงคะแนนนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 83 ได้กำหนดให้การออกเสียงลงคะแนนให้ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน แต่หากเครื่องออกเสียงลงคะแนนขัดข้องให้เปลี่ยนเป็นวิธีการตามที่ประธานกำหนด โดยจะใช้วิธีเรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิก และให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน ซึ่งประธานจะเชิญสมาชิกไม่น้อยกว่า 6 คน เป็นผู้ตรวจนับคะแนน หรือเมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนแล้ว ถ้าสมาชิกร้องขอ ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็นวิธีเรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิกโดยให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน เว้นแต่คะแนนเสียงต่างกันเกินกว่า 25 คะแนน จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ไม่ได้ และเมื่อได้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่และนับคะแนนเสียงใหม่โดยวิธีเรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิกแล้ว จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่อีกไม่ได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 85

การนับคะแนนเสียงนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาก็มีกำหนดไว้ด้วยในลักษณะทำนองเดียวกัน

ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 กำหนดว่า

ข้อ 72 “สมาชิกซึ่งเข้ามาในที่ประชุมวุฒิสภาระหว่างการออกเสียงลงคะแนน อาจลงคะแนนได้ก่อนประธานของที่ประชุมสั่งปิดการออกเสียงลงคะแนน”

ข้อ 73 “ในระหว่างการนับคะแนนในเรื่องใด ประธานของที่ประชุมอาจขอปรึกษาที่ประชุมวุฒิสภาให้นำเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาในระหว่างการนับคะแนนก็ได้ และเมื่อได้นับคะแนนเสียงเสร็จแล้ว ให้ประธานของที่ประชุมประกาศมติต่อที่ประชุมวุฒิสภาทันที ในกรณีเรื่องใดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือข้อบังคับนี้กำหนดไว้ว่ามติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใด ก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงถึงจำนวนที่กำหนดไว้นั้นหรือไม่”

ข้อ 74 “ในการนับคะแนนเสียงครั้งใด ถ้าผลการออกเสียงลงคะแนนต่างกันไม่เกิน 10 คะแนน สมาชิกอาจเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 10 คน ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ได้ การนับคะแนนเสียงใหม่ ให้เปลี่ยนวิธีลงคะแนนเป็นวิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผยหรือการลงคะแนนลับซึ่งอยู่ในลำดับถัดไป (ตามข้อ 68 หรือข้อ 69) แล้วแต่กรณี เว้นแต่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับกำหนดวิธีลงคะแนนไว้โดยเฉพาะเป็นอย่างอื่น”

ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 กำหนดว่า

ข้อ 58 “เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน (ตามข้อ 56 (1)) ถ้าสมาชิกรัฐสภาร้องขอให้มีการนับใหม่ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 40 คน ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็นวิธีเรียกชื่อสมาชิกรัฐสภาตามลำดับอักษร (ตามข้อ 56 (2)) เว้นแต่คะแนนเสียงมีความต่างกันเกินกว่า 30 คะแนน จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่มิได้ และเมื่อได้มีการออกเสียงลงคะแนนโดยวิธีเรียกชื่อสมาชิกรัฐสภาตามลำดับอักษรแล้ว (ตามข้อ 56 (2)) จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่อีกมิได้”

ข้อ 59 “สมาชิกรัฐสภาซึ่งเข้ามาในที่ประชุมรัฐสภาระหว่างการออกเสียงลงคะแนนอาจออกเสียงลงคะแนนได้ก่อนประธานสั่งปิดการลงคะแนน”

ข้อ 60 “เมื่อได้นับคะแนนเสียงเสร็จแล้ว ให้ประธานประกาศมติต่อที่ประชุมรัฐสภาทันที และถ้าเรื่องใดรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับนี้กำหนดไว้ว่า มติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใด ก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงถึงจำนวนที่กำหนดไว้นั้นหรือไม่ และถ้าได้ประกาศมติต่อที่ประชุมรัฐสภาจากผลการออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีการออกเสียงลงคะแนนลับแล้ว (ตามข้อ 57) ให้ประธานสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำลายบัตรออกเสียงลงคะแนนนั้นด้วย”

คำสำคัญ :
นับคะแนนเสียง
คะแนนเสียง
ผู้จัดทำ :
อาริยา สุขโต, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่เผยแพร่ :