นายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศหรือบริหารราชการแผ่นดิน

ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญได้กำหนดที่มาของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้หลายรูปแบบ ดังนี้ กำหนดห้ามมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกัน หรือบางฉบับไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดถึงการได้มาซึ่งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1. ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ทั้งนี้ ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี และไม่เคยทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ (มาตรา 88 และมาตรา 89)

2. บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับการรับรองจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่ประกาศให้ประชาชนทราบ ทั้งนี้ รายชื่อบุคคลที่จะเสนอได้นั้นต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และมติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 159) 

ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ได้กำหนดให้ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับได้กำหนดผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไว้แตกต่างกัน ได้แก่ ประธานแห่งสภา ประธานพฤฒสภาและประธานสภาผู้แทน ประธานคณะอภิรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ นับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 158)

ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติ เช่น มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่มีลักษณะต้องห้ามผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น (มาตรา 160)

ลักษณะต้องห้ามผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่น ติดยาเสพติดให้โทษ เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล เป็นต้น (มาตรา 98)

การสิ้นสุดลงของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่น ตาย ลาออก สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น 

คำสำคัญ :
นายกรัฐมนตรี
ผู้จัดทำ :
ณัฐพงศ์ พันธุ์ไชย, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
รติมา คชนันทน์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
ณัฐพงศ์ พิมเสน, นิติกรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่เผยแพร่ :