งานมหกรรมพืชสวนโลก : การเป็นเจ้าภาพของประเทศไทย

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-04
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

งานมหกรรมพืชสวนโลกเป็นงานมหกรรมจัดแสดงด้านพืชสวนกลางแจ้ง โดยจัดแสดงครั้งแรกเมื่อปี 2503 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และต่อมาได้มีการจัดงานต่อเนื่องโดยหมุนเวียนประเทศเจ้าภาพภายในภาคีสมาชิก โดยมีสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (International Association of Horticulture Producers: AIPH) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การจัดงาน ปัจจุบันสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศได้แบ่งการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับ A1 (World Horticultural Exhibition) ระดับ B (International Horticultural Exhibition) ระดับ C (International Horticultural Show) และระดับ D (International Horticultural Trade Exhibition) ซึ่งแต่ละระดับมีข้อกำหนดเฉพาะที่แตกต่างกัน เช่น ระยะเวลาการจัดงาน พื้นที่ขั้นต่ำของการจัดแสดง และระยะเวลาที่ต้องแจ้งความประสงค์ล่วงหน้าในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร ในนามประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ เมื่อปี 2546 และในอดีตประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อปี 2549 เป็นการจัดแสดงงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ในระดับ A1 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549-31 มกราคม 2550 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “การจัดงานเพื่อแสดงความรัก สู่มนุษยชาติ” และใช้ดอกราชพฤกษ์ “ต้นไม้ของพระราชา” เป็นชื่อและสัญลักษณ์งาน โดยการจัดงานดังกล่าวประเทศไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจากสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ เนื่องจากสามารถจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 ในระดับ B ระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2554-14 มีนาคม 2555 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “การลดภาวะโลกร้อน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยการใช้ซ้ำ ลดการใช้ และนำกลับมาใช้ใหม่” 

การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ภาครัฐมีเงินรายได้จากการจัดงาน และยังทำให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระดับจังหวัดและภาคเหนือตอนบน โดยมีอัตราการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งกิจการโรงแรมและที่พักอาศัย ร้านอาหารและภัตตาคาร รถโดยสาร และการขายของที่ระลึกและของฝากมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยได้รับสิทธิ์จากสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศในการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอีกครั้งในปี 2569 และปี 2572 โดยสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศได้ประกาศการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ในระดับ B โดยมีระยะเวลาจัดงานระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569-14 มีนาคม 2570 ณ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พื้นที่จำนวน 1,030 ไร่ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต: สายสัมพันธ์แห่งผู้คน สายน้ำ และพืชพรรณ สู่การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน” และเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศประกาศให้สิทธิ์ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (โคราช เอ็กซ์โป 2029) ในระดับ A1 โดยมีระยะเวลาจัดงานระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572-28 กุมภาพันธ์ 2573 ณ พื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์โคกหนองรังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่จำนวน 678 ไร่ ภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” 

การเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกซึ่งนับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของโลก ดังนั้น ในหลายภาคส่วนจึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน โดยคณะรัฐมนตรีในสมัยของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้อนุมัติกรอบงบประมาณสำหรับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 วงเงินงบประมาณ 2,500 ล้านบาท และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 วงเงินงบประมาณ 4,281 ล้านบาท รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ได้มีข้อปรึกษาหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อติดตามการดำเนินงานในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ โดยทำให้เกิดมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) สร้างการจ้างงานและกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่และจังหวัดข้างเคียง อีกทั้งรายได้จากการเก็บภาษี นอกจากนั้น ยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นานาชาติได้เห็นถึงการพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศไทย และการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ตลอดจนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีด้านพืชสวนระหว่างประเทศ อันจะส่งเสริมให้การพัฒนาพืชสวนของไทยก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ภาพปก