ร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดบทบัญญัติหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นใหม่และเป็นกลไกสำคัญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศ3 ประการ คือ (1) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ (2) สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ และ (3) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยให้มีการดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อย 7 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการเมือง (2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (3) ด้านกฎหมาย (4) ด้านกระบวนการยุติธรรม (5) ด้านการศึกษา (6) ด้านเศรษฐกิจ และ (7) ด้านอื่น ๆ 

ต่อมาได้มีการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศและประกาศใช้บังคับเมื่อปี 2561โดยกำหนดแผนการปฏิรูปประเทศไว้ 11 ด้าน ภายหลังได้ปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศเป็น 13 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการเมือง (2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (3) ด้านกฎหมาย (4) ด้านกระบวนการยุติธรรม (5) ด้านเศรษฐกิจ (6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (7) ด้านสาธารณสุข (8) ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ (9) ด้านสังคม (10) ด้านพลังงาน (11) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (12) ด้านการศึกษา (13) ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

ทั้งนี้ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้วุฒิสภาในวาระเริ่มแรกเป็นกลไกหลักในการกำกับและขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ รวมถึงการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนั้นแล้ว การเสนอร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16การปฏิรูปประเทศได้กำหนดให้มีการเสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา 

โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศนั้น กำหนดให้เฉพาะคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอและให้แจ้งต่อประธานรัฐสภาทราบด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการติดตามและขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่ได้แจ้งว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัตินั้น เป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของแต่ละสภา อาจเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้วินิจฉัย โดยการยื่นคำร้องดังกล่าวจะต้องยื่นก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณีจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นแล้วเสร็จ และเมื่อประธานรัฐสภาได้รับคำร้องดังกล่าวแล้ว ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการร่วมเพื่อวินิจฉัยซึ่งประกอบด้วยประธานวุฒิสภาเป็นประธาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนคณะรัฐมนตรีคนหนึ่ง และประธานคณะกรรมาธิการสามัญคนหนึ่งซึ่งเลือกกันเองระหว่างประธานคณะกรรมาธิการสามัญในวุฒิสภาทุกคณะเป็นกรรมการซึ่งการวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมให้ถือตามเสียงข้างมากและให้เป็นที่สุด โดยให้ประธานรัฐสภาดำเนินการไปตามคำวินิจฉัยนั้น

หลังจากที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 คณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศและเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้วหลายฉบับ โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีความสอดคล้องเชื่อมโยงตามแผนการปฏิรูปประเทศที่ได้กำหนดไว้ และบางฉบับได้มีผลประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว เช่น พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 32) พ.ศ. 2563 (หลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2564 (จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) และพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564

ภาพปก