บัญชีเงินฝากพื้นฐาน บัญชีเพื่อคนไทย

ผู้เรียบเรียง :
พิมพ์ธัญญา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-03
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมถือเป็นปัจจัยสนับสนุนพื้นฐานที่ช่วยให้การยกระดับศักยภาพของประเทศเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน โดยจะช่วยยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่จากผลการสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงิน เมื่อปี 2559 พบว่ายังมีครั่วเรือนไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือเลือกไมใช้บริการทางการเงินโดยเฉพาะด้านเงินฝากเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ครัวเรือนบางส่วนที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี หรือมีรายได้ไม่เพียงพอในการใช้บริการเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ค่าใช้จ่ายและการกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการเปิดปัญชี ค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินฝากที่มีอัตราสูง ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากการฝากเงิน หรือการออมเงินในบัญชีเงินฝากนอกจากเป็นการสร้างหลักประหลักประกันความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว และเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ แล้วการออมของภาคครัวเรือนยังเป็นการช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีรายได้น้อย และขาดโอกาสให้สามารถเข้าถึงและใช้บริการทางการเงินขั้นพื้นฐานได้สะดวกในราคาที่ต่ำลง และเสริมสร้างทัศนคติในการออมที่ดี อันป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงร่วมกับธนาคารพาณิชย์สมาชิกสมาคมธนาคารไทย 14 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ธนาคารกรุงไทย จำกัด  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด  ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด ธนาคารทหารไทย จำกัด ธนาคารทิสโก้ จำกัด ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ธนาคารธนชาต จำกัด ธนาคารยูโอบี จำกัด ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด และ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "การให้บริการบัญชีเงินฝากเพื่อการเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน" หรือบัญชีเงินฝากพื้นฐาน (Basic Banking Account)

ทั้งนี้ บัญชีเงินฝากพื้นฐานเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทเงินฝากออมทรัพย์ ที่มีรูปแบบหรือลักษณะเหมือนกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป แต่มีการกำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชนพิเศษที่ช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนผู้ฝากกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแตกต่างจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป ดังนี้
    1. ผู้มีสิทธิเปิดบัญชี ได้แก่ ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังไม่หมดอายุ และผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป โดยผู้เปิดบัญชีสามารถเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐานได้เพียง 1 บัญชี ต่อ 1 ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น
    2. บัญชีเงินฝากพื้นฐานจะไม่กำหนดวงเงินหรือจำนวนเงินฝากขั้นต่ำในการเปิดบัญชี และไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี สำหรับกรณีบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ภายในระยะเวลาติดต่อกันเกิน 24 เดือน และจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม (ATM) หรือบัตรเดบิต (Debit Card) เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมบริการรายปี และค่าธรรมเนียมการทำบัตรใหม่ กรณีบัตรหมดอายุ
    3. การฝาก การถอน และการโอนเงิน สำหรับบัญชีเงินฝากพื้นฐานให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่แต่ละธนาคารกำหนด
    4. อัตราดอกเบี้ยสำหรับบัญชีเงินฝากพื้นฐานจะเป็นไปตามประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของแต่ละธนาคาร โดยกำหนดระยะเวลาในการจ่ายดอกเบี้ย 2 ครั้งต่อปี
    5. การปรับสถานะบัญชีเงินฝากพื้นฐาน ธนาคารผู้เข้าร่วมโครงกรจะเป็นผู้สงวนสิทธิ์ในการปรับสถานะบัญชีเงินฝากพื้นฐานเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ปกติ ในกรณีที่เข้าเงื่อนไขตามที่ธนาคารกำหนด
    6. หลักฐานสำหรับการเปิดบัญชีพื้นฐาน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

โดยปัจจุบันธนาคารพาณิชย์สมาชิกสมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 16 แห่ง ได้เปิดให้บริการผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากพื้นฐานครบทุกแห่งแล้ว ประชาชนที่สนใจและผู้มีสิทธิในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว สามารถปิดบัญชี หรือติดต่อสอบถมข้อมูลรายละเอียดเงื่อนไขได้ที่ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการทุกแห่ง

บัญชีเงินฝากพื้นฐาน จึงนับเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยให้ผู้ที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี หรือมีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงและดำเนินธุรกรรมทงการเงินพื้นฐานในระบบได้อย่างสะดวกด้วยราคาที่ต่ำลง และเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐ นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการออม และการลงทุนระยะยาวที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุด้วย นับเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารเงินขั้นพื้นฐาน และสามารถต่อยอดไปใช้บริการผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตลอดจนส่งเสริมทัศนคติในการออมของประชาชาชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ภาพปก