บทบาทของประชาชนก่อนวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ผู้เรียบเรียง :
ยุทธพงศ์ ปิ่นอนงค์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-03
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตามมาตรา 50 นั้น ประชาชนทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องทำหน้าที่ด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ใกล้จะเกิดขึ้นนี้ อาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 โดยมีการกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการเผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์การเลือกตั้ง ทั้งในรูปแบบของเอกสาร คือ "คู่มือประชาชนรณรงค์เผยแพร่การเลือกตั้ง ส.ส." และในรูปแบบของแอปพลิเคชันที่ใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เรียกว่า "Smart Vote" เพื่อประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย ซึ่งข้อมูลจากทั้งสองแหล่งดังกล่าวได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งและบทบาทของประชาชนในช่วงก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

ประการแรกคือ การเตรียมหลักฐานก่อนไปลงคะแนนเลือกตั้ง นั้นก็คือ บัตรประชาชนหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐได้ออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชนไว้ให้พร้อมก่อนการใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ บัตรประชาชนที่หมดอายุก็สามารถนำไปใช้ในการเลือกตั้งได้ด้วย

ประการที่สองคือ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งของกติกาการเลือกตั้ง คือ การเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องดังกล่าวนี้ โดยมีความว่า "เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ รับบัตรใบเดียว กาเบอร์เดียว ได้ผลสามอย่าง "สำหรับในส่วนเรื่อง "... กาเบอร์เดียว ได้ผลสามอย่าง" อธิบายอย่างง่าย ๆ ได้ความดังนี้ อย่างแรกการได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใด จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในแต่ละเขตเลือกตั้งจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เพียงหนึ่งคนเท่านั้น อย่างที่สอง การนำคะแนนของผู้สมัครทุกคนทุกเขตของทุกพรรค มาคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรค และอย่างที่สาม พรรคที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคน มีสิทธิเสนอชื่อบุคคล ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดสามอย่างนี้ เป็นผลเนื่องจากในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม" ดังนั้น ประชาชนต้องใช้สิทธิทำเครื่องหมายกากบาท (X) เพียงใบเดียวเท่านั้น โดยประชาชนต้องจดจำหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครของพรรคการเมืองที่ตนเองสนใจในเขตเลือกตั้งนั้นเท่านั้น แตกต่างจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในอดีตที่ผ่านมาที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบ

ประการที่สามคือ การตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยขอแบ่งออกเป็น 2 ช่วงดังนี้ คือ ช่วงแรก ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ประชาชนต้องดำเนินการตรวจสอบรายชื่อของตน ภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 โดยการตรวจสอบรายชื่อของตนได้ที่หน่วยเลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ประชาชนสะดวกในการตรวจสอบ

ช่วงที่สอง ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน ประชาชนต้องตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้จัดส่งไปยังเจ้าบ้าน ภายในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2562

ประการที่สี่คือ การเพิ่มชื่อและการถอนชื่อ กล่าวคือ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน ภายใน วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562 กรณีนี้หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีชื่ออยู่ในบัญชี รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไมได้อาศัยอยู่จริงให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อหรือขอถอนชื่อ

ประการสุดท้ายคือ ประชาชนทุกคนต่างมีส่วนร่วมรณรงค์การไปใช้สิทธิก่อนการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยการเชิญชวนเพื่อนฝูง พี่น้องหรือคนที่รู้จักไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากขึ้น นอกจากนี้ ประชาชนต้องติดตามการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง การศึกษาข้อมูลของผู้สมัครในแต่ละพรรคการเมือง นโยบายพรรคการเมืองของแต่ละพรรคการเมือง รวมทั้งการสอดส่องดูแล ฝ้าระวังการทุจริตการเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นบทบาทของประชาชนก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร นอกจากเรื่องเอกสารประจำตัวพร้อมทั้งการเตรียมตัวตรวจสอบรายชื่อของตนเองเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งแล้ว ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาเพื่อเฝ้าระวังการทุจริตการเลือกตั้ง เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นบทบาทสำคัญของประชาชนทุกคนต่างมีส่วนร่วมในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้

ภาพปก