บทบาทนิติวิทยาศาสตร์กับกระบวนการยุติธรรม

ผู้เรียบเรียง :
ศรันยา สีมา, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-05
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

พยานหลักฐานเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ว่าพยานหลักฐานนั้นจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสาร และวัตถุพยานก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะให้ความสำคัญกับประจักษ์พยาน ซึ่งเป็นพยานบุคคลมากกว่าพยานหลักฐานประเภทอื่น แต่เนื่องจากการก่ออาชญากรรมบางครั้งกระทำในที่รโหฐานหรือเกิดขึ้นในยามวิกาล ซึ่งอาจไม่มีพยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์การกระทำความผิดนั้นเลย ประกอบกับพยานบุคคลอาจมีความจำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากเดิมได้เมื่อเวลาล่วงเลยไป ทำให้การพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยทำได้ยาก และไม่สามารถลงโทษผู้ก่ออาชญากรรมนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศต่าง ๆ จึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับวัตถุพยานที่มีการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพิสูจน์หลักฐานให้ถูกต้องแท้จริงตามหลักวิทยาศาสตร์ และเนื่องจากเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นด้วยการวิเคราะห์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ จึงมีความน่าเชื่อถือ ถูกต้องแม่นยำค่อนข้างมาก 

“นิติวิทยาศาสตร์” คือ การนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขามาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในด้านกฎหมาย เช่น การเก็บและตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ เพื่อค้นหาความจริงและพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งจะนำไปสู่การลงโทษผู้ต้องหาหรือจำเลยในการกระทำความผิดนั้น นิติวิทยาศาสตร์จำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ “นิติวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ” เช่น การพิสูจน์หลักฐาน 
การตรวจสถานที่เกิดเหตุและเก็บรวบรวมวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุ และ “นิติวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์” ซึ่งเป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรม เช่น นิติเวชศาสตร์ ซึ่งเป็นการนำความรู้ทางการแพทย์มาใช้ในการแก้ปัญหาทางกฎหมายและพิสูจน์คดีความ นิติทันตวิทยาเป็นการนำความรู้ทางทันตวิทยามาใช้ในการตรวจฟันเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคล เป็นต้น

การนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมเริ่มขึ้นในต่างประเทศตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา เช่น การชี้ยืนยันตัวบุคคลโดยใช้ระบบการวัดขนาดของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การนำลายนิ้วมือมาใช้ในการยืนยันตัวบุคคล การนำเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ในการตรวจลักษณะที่แตกต่างกันบนปลอกกระสุนปืนที่ยิงออกจากปืนแต่ละกระบอก และการตรวจสอบลายพิมพ์ดีเอ็นเอที่เก็บได้จากสถานที่เกิดเหตุมาเปรียบเทียบกับลายพิมพ์ดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัย ซึ่งวิธีการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เหล่านี้ได้รับการพัฒนามาโดยตลอด และยังคงใช้อยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ประเทศไทยได้นำเอานิติวิทยาศาสตร์มาใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนเท่าใดนัก จนกระทั่งเกิดคดีฆาตกรรมนักศึกษาแพทย์ที่มีการตัดแยกอวัยวะแต่ละส่วนออกจากร่างกายเพื่อทำลายหลักฐานในปี 2541 นิติวิทยาศาสตร์จึงเริ่มเป็นที่สนใจของประชาชนมากขึ้น ในส่วนของภาครัฐก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง มีการจัดตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมขึ้น เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐสามารถเข้าถึงการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ได้ง่ายขึ้น และเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดมาตรฐานกลางในการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผลการตรวจพิสูจน์เป็นที่น่าเชื่อถือ ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

พยานหลักฐานที่ได้มาจากการตรวจพิสูจน์โดยนิติวิทยาศาสตร์เป็นหลักฐานสำคัญที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมากในการพิจารณาคดีของศาล การตรวจพิสูจน์หลักฐานโดยนิติวิทยาศาสตร์จึงต้องทำตามมาตรฐานทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บหลักฐานจนถึงการรายงานผลการตรวจพิสูจน์ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกลงโทษในความผิดที่ตนเองไม่ได้กระทำ และรัฐควรสนับสนุนให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านนิติวิทยาศาสตร์เข้ารับการศึกษาอบรมหรือทำการศึกษาวิจัยมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำความรู้มาใช้พัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น 

ภาพปก