ดุสิตธานี

ผู้เรียบเรียง :
ฉัตรชัย ศรีเมืองกาญจนา, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-02
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อปี 2475 นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเมืองจำลองที่เรียกว่า "ดุสิตธานี" ขึ้นในปี 2461 เพื่อเป็นแบบทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีลักษณะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาลโดยดัดแปลงมาจากประเทศอังกฤษ

ดุสิตธานี ถือกำเนิดที่พระราชวังสวนดุสิต ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ที่พระราชวังพญาไท (โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน) สิ่งก่อสร้างจำลองต่าง ๆ ในดุสิตธานีมีขนาดสูง 2-3 ฟุต เช่น ที่ทำการรัฐบาล บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน สถานที่ราชการ โรงทหาร ร้านค้า โรงพยาบาล ตลาด โรงแรมธนาคาร สถานประกอบธุรกิจต่าง ๆ เป็นต้น โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบุรีนวราษฐ์ ราชเลขานุการในพระองค์ แปลธรรมนูญการปกครองเทศบาลของประเทศอังกฤษแล้ว ทรงนำมาพิจารณาดัดแปลงแก้ไขเพื่อใช้ในดุสิตธานี และได้พระราชทานชื่อว่า "ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี พระพุทธศักราช 2461" เพื่อเป็นการกำหนดอำนาจในอันที่จะพระราชทานแด่ชาวดุสิตธานี ให้ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในวิธีจัดการปกครองตนเองในกิจการบางอย่าง โดยเนื้อหาสำคัญในธรรมนูญการปกครองนี้ ได้แก่ การกำหนดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเป็นการเลือกตั้งนคราภิบาล (หัวหน้ารัฐบาล) ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าดำเนินการปกครองโดยทั่วไป และเลือกเชษฐบุรุษ (เปรียบได้กับผู้แทนราษฎร) เป็นตัวแทนของทวยนาคร (ราษฎร) ในอำเภอนั้น ๆ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเป็นนคราภิบาลผู้เป็นใหญ่ในดุสิตธานีแต่ทรงเป็นเพียงนาครผู้หนึ่งที่ทรงใช้พระนามแฝงว่า "นายราม ณ กรุงเทพ" มีอาชีพเป็นทนายความ มีหน้าที่พิเศษเป็นเกษตรมณฑล มรรคนายกวัดพระบรมธาตุ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์และที่ปรึกษาราชการของสมุหเทศาภิบาลด้วย

ในด้านการเมือง ดุสิตธานีมีพรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคฝ่ายซ้ายและพรรคฝ่ายขวา กล่าวคือ มีฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้านอย่างสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน พรรคฝ่ายขวานั้นมีนายราม ณ กรุงเทพเป็นหัวหน้าพรรค เวลาประชุมจะติดแพรแถบสีน้ำเงินเป็นเครื่องหมาย จึงเรียกว่า "พรรคแพรแถบสีน้ำเงิน" ส่วนพรรคฝ่ายซ้าย มีพลเอก เจ้าพระยารามราฆพ เป็นหัวหน้าพรรค เวลาประชุมจะติดแพรแถบแดง เป็นเครื่องหมาย จึงเรียกว่า "พรรคแพรแถบสีแดง" 

การพระราชทานธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พระพุทธศักราช 2461 เพื่อใช้ในดุสิตธานี เป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามและพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระองค์ในการสานต่อเจตนารมณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนก ที่ทรงมีพระราชดำริให้พระองค์พระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อครองราชย์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นทรงเห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม อีกทั้งยังไม่มีความรู้ความเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น การส่งเสริมความคิดเรื่องการปกครองตนเองให้มีขึ้นในหมู่พสกนิกร จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง แต่เนื่องจากประชาชนยังขาดการศึกษาและไม่เห็นคุณค่าของการปกครองระบอบประชาธิปไตย การเรียกร้องเพื่อให้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญของบุคคลบางกลุ่ม จึงยังไม่อาจเป็นเสียงสะท้อนจากคนส่วนใหญ่ว่ามีความพร้อมมากเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแบบใหม่ตามกระแสนิยมตะวันตก เมืองดุสิตธานีจึงเปรียบเสมือนเป็นศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยแห่งแรกของไทยซึ่งทดลองให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียก่อนนำไปปฏิบัติจริง

นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 86 ปี ที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ แต่พัฒนาการประชาธิปตยของประเทศไทยยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร สาเหตุหนึ่งอาจเนื่องมาจากการที่ประชาชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจในบทบาทและสิทธิหน้าที่ของตนเองตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดุสิตธานีจึงเปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนให้เห็นถึงพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะสร้งประชาธิปตยไว้เป็นบรรทัดฐานของประเทศสืบต่อไป ดังนั้น หากได้มีการเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รู้จักยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง อันจะส่งผลให้ประชาธิปตยของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง และอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ภาพปก