เขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ผู้เรียบเรียง :
นรากร นันทไตรภพ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-04
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การพัฒนาของประเทศในปัจจุบันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคม ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ  และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ทุกคนในสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาไว้ซึ่งสมดุลทางธรรมชาติและเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างยั่งยืน

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ให้ความหมายของคำว่า "สิ่งแวดล้อม" หมายความถึง สิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น

"คุณภาพสิ่งแวดล้อม" หมายความถึง ดุลยภาพของธรรมชาติ อันได้แก่ สัตว์ พืช และทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ และสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีพของประชาชนและความสมบูรณ์สืบไปของมนุษยชาติ

"เขตอนุรักษ์" หมายความถึง เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตสงวนเพื่อการท่องเที่ยวและพื้นที่เขตคุ้มครองอย่างอื่นเพื่อสงวนและรักษาสภาพธรรมชาติตามที่มีกฎหมายกำหนด

"พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม" หมายความถึง พื้นที่ใดมีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร หรือมีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นโดยทั่วไป หรือมีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลาย หรืออาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้โดยง่าย หรือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ หรือศิลปกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์และพื้นที่นั้นยังมิได้ถูกประกาศกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ให้รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนด ให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

โดยที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 42-45 กล่าวถึง เขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการดำเนินมาตรการในการคุ้มครองและอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติของพื้นที่ที่อาจถูกทำลาย หรือได้รับผลกระทบกระเทือนจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ เช่น พื้นที่ต้นน้ำลำธาร หรือพื้นที่ที่มีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นโดยทั่วไป เป็นต้น จึงได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดมาตรการคุ้มครองตามมาตรา 44 ดังนี้
1. กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ หรือมิให้กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ หรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม
2. ห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใด ๆ ที่อาจเป็นอันตราย หรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของพื้นที่นั้นจากลักษณะตามธรรมชาติ หรือเกิดผลกระทบต่อคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม
3. กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างหรือดำเนินการในพื้นที่นั้น ให้มีหน้าที่ต้องเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
4. กำหนดวิธีจัดการโดยเฉพาะสำหรับพื้นที่นั้น รวมทั้งการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการร่วมมือและประสานงานให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติหรือระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติหรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในพื้นที่นั้น
5. กำหนดมาตรการคุ้มครองอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้น


ยกตัวอย่างการประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ตำบลบางกระเจ้า ตำบลบางกอบัว ตำบลบางน้ำผึ้งตำบลบางยอ ตำบลบางกระสอบ และตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 เนื่องจากพื้นที่ข้างต้นมีความหลากหลายของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติที่อาจถูกทำลายหรือได้รับความกระทบกระเทือนจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ รวมถึงเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป ตลอดจนการเจริญเติบโตของชุมชนทำให้พื้นที่ทางการเกษตรลดลง สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติ และเพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีพของประชาชนต่อไป

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติอย่างชัดเจนในหมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 57 มาตรา 58 และหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 72 กล่าวโดยสรุป คือรัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ตลอดจนมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรน้ำ และพลังงาน ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน จึงเห็นได้ว่าการกำหนดเขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไปในอนาคต
 

ภาพปก