การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค

ผู้เรียบเรียง :
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-04
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติรับรองสิทธิของผู้บริโภคว่าย่อมได้รับความคุ้มครองและบุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แนวคิดเรื่องการจัดตั้ง "องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" เป็นหลักการที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จนมาถึงในช่วงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เริ่มมีความชัดเจนขึ้น โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง มีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย และรับรองสิทธิในการรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคโดยให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐที่ประกอบด้วยตัวแทนของผู้บริโภคและได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในปี 2552 แต่ภายหลังได้มีการประกาศยุบสภาทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.... หยุดชะงักลง

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ.... ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอ นับเป็นความเคลื่อนไหวในเรื่ององค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่ง โดยร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ.... ฉบับนี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบายและดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนที่จะส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย อาทิ ประเด็นเกี๋ยวกับการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติให้มีความรัดกุม เหมาะสม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประเด็นเกี่ยวกับแหล่งรายได้ในการดำเนินกิจการ ประเด็นการกำหนดชื่อร่างพระราชบัญญัติที่ไม่ควรมีคำว่า "แห่งชาติ" เป็นต้น

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ ได้พิจารณาเสร็จสิ้น และเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยได้มีการแก้ไขเนื้อหาและชื่อร่างพระราชบัญญัติจาก "ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. " เป็น "ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ..... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคที่กำหนดบทนิยาม "องค์กรของผู้บริโภค" ว่าหมายความถึง องค์กรที่ผู้บริโภคที่เป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปรวมตัวกันจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร ไม่ว่าการรวมตัวจัดตั้งนั้นจะจัดตั้งเป็นรูปแบบใดและจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ กำหนดให้องค์กรของผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 150 องค์กร มีสิทธิเข้าชื่อกันแจ้งต่อนายทะเบียนกลางเพื่อเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค กำหนดให้มีการจัดทำร่างข้อบังคับของสภาองค์กรของผู้บริโภคและเรียกประชุมสมาชิกภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศการจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภคที่อย่างน้อยต้องมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการเงิน การธนาคาร การขนส่งและยานพาหนะ ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้านอาหารและยา ด้านบริการสุขภาพ ด้านสินค้าและบริการ ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม และด้านบริการสาธารณะ โดยให้สภาองค์กรของผู้บริโภคที่จะจัดตั้งขึ้นนี้มีอำนาจในการดำเนินการให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ของผู้บริโภค เสนอแนะนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ และมีสิทธิในการฟ้องคดี ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครองและคดีผู้บริโภคเช่นเดียวกับผู้เสียหาย เป็นต้น

โดยหลักการของการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างกระบวนการในการรวมตัวกันของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้วยกันเอง สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนที่เป็นผู้บริโภคโดยตรง ทำให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการใช้สินค้าหรือบริการ ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อภาคธุรกิจ โดยผู้ประกอบการจะมุ่งแข่งขันกันพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อให้สินค้าและบริการมีคุณภาพ นำมาซึ่งการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยในเวทีการค้โลกที่ดีต่อไปด้วย ที่สำคัญการจะนำไปสู่การทำหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น จำต้องได้รับการสนับสนุน และมีการทำงานร่วมกับภาครัฐที่ยังคงมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง อันจะเป็นการนำมาซึ่งการทำหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
 

ภาพปก