การเกษตรสร้างมูลค่าตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-03
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตามมาตรา 65 ได้กำหนดให้รัฐจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ ต่อมาจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 และประกาศใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 -2580) โดยเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงนับเป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ได้แก่ 
1) ด้านความมั่นคง 
2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 
4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้กับประชาชนทุกภาคส่วนดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงในภาคการเกษตรด้วย ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้กำหนดการส่งเสริมและพัฒนาในภาคการเกษตร ภายใต้การพัฒนาต่อยอดโครงสร้างธุรกิจการเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นเกษตรคุณภาพสูงและขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ตลอดจนความหลากหลายของสินค้าเกษตร ประกอบด้วย
1. เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ส่งเสริมการนำอัตลักษณ์พื้นถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้าเกษตรชนิดใหมให้รองรับความต้องการของตลาดยุคใหม่ ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีการพัฒนากระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ พัฒนาคุณภาพให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน รวมถึงส่งเสริมการขึ้นทะเบียนรับรองสิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนส่งเสริมแบรนด์และสร้างเรื่องราวของสินค้าให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ
2. เกษตรปลอดภัย สร้างความตระหนักแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคในเรื่องความสำคัญของมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร จูงใจและวางกรอบให้ทำการผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับมาตรฐาน รวมถึงให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อมุ่งสู่การเลิกใช้สารเคมี รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ทั้งด้านการผลิตระบบการตรวจรับรองคุณภาพและมาตรฐาน ระบบตรวจสอบย้อนกลับ และสนับสนุนกลไกทางการตลาด
3. เกษตรชีวภาพ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศในการสร้างมูลค่าเพิ่ม นำไปสู่การผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากฐานเกษตรกรรมและฐานทรัพยากรชีวภาพ ด้วยการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ตลอดจนการส่งเสริมการปลูกสมุนไพรและพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรม และการส่งสริมการวิจัย พัฒนา และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน
4. เกษตรแปรรูป โดยปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย รวมถึงนวัตกรรมจากภูมิปัญญามาพัฒนาต่อยอดสินค้าเกษตรขั้นต้นให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูง ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นสูงที่มีคุณค่าเฉพาะด้วยการต่อยอดผลงานจากสถาบันวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ สร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาด และส่งเสริมการสร้างแบรนด์ ขยายช่องทางการตลาดด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งให้ความสำคัญในการสร้างเครื่องหมายการค้าและปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
5. เกษตรอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเป็นฟาร์มอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตรในเชิงมูลค่าและปริมาณต่อพื้นที่สูงสุด ด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติและเซ็นเซอร์อัจฉริยะ การช่วยบันทึกข้อมูลสำคัญ และติดตามการบริหารจัดการ รวมทั้งส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร และพัฒนาระบบประกันภัยทางการเกษตร ตลอดจนส่งสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

การเกษตรสร้างมูลค่าตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เป็นประเด็นยุทธศาสตร์ชาติที่วางแนวทางเป้าหมายสำหรับการพัฒนาในภาคการเกษตร เพื่อมุ่งหวังให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ด้วยการยกระดับการผลิตทางการเกษตรให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต อันนำไปสู่เป้าหมายในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน และเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
 

ภาพปก