การติดตามการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผู้เรียบเรียง :
จันทมร สีหาบุญลี, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-05
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรทางการปกครองของระบบราชการไทยในระดับท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย จำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ 1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และ 2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญต่อรัฐบาลทั้งในด้านการเมือง การปกครอง และการบริหาร โดยด้านการเมืองการปกครองนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่ช่วยเสริมสร้างพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้การปกครองตนเอง ส่วนด้านการบริหารนั้นเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและเป็นช่องทางให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถแสดงออกสนองตอบในการแก้ไขปัญหาของตนเองโดยผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นที่ประชาชนอาศัยอยู่

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยกลไกต่าง ๆ ในการบริหารจัดการโดยงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล และการจัดเก็บภาษีรายได้ภายในท้องถิ่น เป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารและการจัดบริการสาธารณะตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 มาตรา 30 (4) กำหนดการจัดสรรภาษีและอากรเงินอุดหนุนและรายได้อื่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 รัฐบาลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า และโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบห้า โดยการจัดสรรสัดส่วนที่เป็นธรรมแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคำนึงถึงรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นด้วย การเพิ่มสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลให้เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่เหมาะสมแก่การพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินกิจการบริการสาธารณะได้ด้วยตนเอง และให้เป็นไปตามภารกิจที่ถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถ่ายโอนเพิ่มขึ้นภายหลังปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นการได้เงินอุดหนุนที่จัดการให้ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าเงินอุดหนุนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 มาตรา 30 (5) การจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีในส่วนที่เกี่ยวกับการบริการสาธารณะในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้รัฐจัดการเงินอุดหนุนให้เป็นไปตามความจำเป็นและความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อยและถูกต้องตามกฎหมาย มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผล โดยมีเป้าหมายเพื่อความผาสุก ความสงบและปลอดภัย รวมทั้งความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน 

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณภายใต้การควบคุมงบประมาณของคณะผู้บริหารท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่งบประมาณที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งในส่วนของงบประมาณรายจ่ายและเงินนอกงบประมาณ เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งหรือหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย โดยมีหัวหน้าหน่วยงานคลังเป็นผู้ช่วยเหลือและให้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการรับและการเบิกจ่ายเงิน ควบคุมบัญชี รายงาน และเอกสารอื่นเกี่ยวกับการรับจ่ายเงินและหนี้ ตลอดจนการตรวจเอกสารการรับจ่ายเงิน การขอเบิกเงิน และการก่อหนี้ผูกพัน นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรายงานด้วยการจัดส่งสำเนางบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่ได้รับอนุมัติให้ประกาศใช้แล้วไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบลให้ส่งนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอเพื่อทราบภายในระยะเวลาไม่เกินสิบห้าวัน นับแต่วันสิ้นสุดการประกาศโดยเปิดเผยเพื่อให้ประชาชนทราบ ณ สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเมื่อสิ้นปีงบประมาณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องประกาศรายงานการรับจ่ายเงินประจำปีงบประมาณทั้งส่วนงบประมาณรายจ่ายและเงินนอกงบประมาณไว้โดยเปิดเผย ณ สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนทราบภายในกำหนดสามสิบวัน แล้วส่งสำเนารายการรายรับรายจ่ายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทราบและเก็บเป็นข้อมูลระดับจังหวัดภายในระยะเวลาสิบห้าวัน หลังจากนั้นให้จังหวัดรายงานกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยต่อไป

ภาพปก