กฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า

ผู้เรียบเรียง :
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-02
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

จากกรณีที่มีข่าวผู้บริโภคออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เกิดขึ้นเสมอมาบนหน้าสื่อ หรือกรณีที่ผู้บริโภคประสบกับปัญหาการซื้อสินค้าแล้วไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจมักมีข้อต้แย้งในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ในต่างประเทศมีหลายประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องสินค้าชำรุดบกพร่องเป็นการเฉพาะ เช่น ประเทศเยอรมนี ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในอาเซียนอย่างประเทศสิงคโปร์ กฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าเหล่านี้จะมีหลักการในการเยียวยาผู้บริโภคให้สามารถเปลี่ยนหรือคืนสินค้า หรือชดเชยราคาสินค้าเมื่อพบว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่องตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

สำหรับประเทศไทยกฎหมายเกียวกับความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้ากำลังจะมีขึ้นโดยได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ....ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรมระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจโดยการระบุสิทธิหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การลดข้อโต้แย้งและลดข้อพิพาทระหว่างทั้งสองฝ่ายเมื่อเกิดปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ... เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาปรับแก้ไข ก่อนที่จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

เหตุผลและความจำเป็นในการมีกฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า เนื่องมาจากหลักกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีพื้นฐานมาจากเสรีภาพของบุคคลตามหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา รัฐจะไม่เข้าแทรกแชง แม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่จะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือกว่าถือโอกาสอาศัยหลักดังกล่าวเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ประกอบกับสินค้าที่ซื้อขายกันในตลาดมีจำนวนมากขึ้น และถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีขั้นสูงที่วิญญูชนทั่วไปไม่อาจจะทราบถึงความชำรุดบกพร่องได้โดยง่าย วิธีการซื้อขายก็มีหลากหลายรูปแบบ ทำให้มีความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบกิจการกับผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้ง เมื่อพิจารณามาตรา 472 ถึง 474 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงการใช้และการตีความกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของไทย จะพบว่ามีประเด็นที่ต้องมีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ชัดจนและทันสมัย เพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายมีความชัดเจนเพียงพอในการคุ้มครองความสุจริตในสัญญาซื้อขาย สมควรที่รัฐจะกำหนดกรอบความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องเพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมและความไม่สงบสุขในสังคมดังกล่าว

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ.... ฉบับที่ คณะรัฐมนตรีรับหลักการนี้ จะเป็นการกำหนดบทบัญญัติที่ใช้บังคับกับสินค้าทุกประเภทมิใช่เพียงแค่รถยนต์ กำหนดบทบัญญัติสำหรับสัญญาเช่าซื้อเพื่อให้ผู้บริโภคในสัญญาเช่าซื้อสามารถเรียกให้ผู้ขายดำเนินการกับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องได้โดยตรง กำหนดบทนิยามของความชำรุดบกพร่อง กำหนดสิทธิของผู้บริโภคในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดต่อความชำรุดบกพร่อง โดยผู้บริโภคมีสิทธิเรียกให้ผู้ขายซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าเลิกสัญญาหรือขอลดราคา เรียกค่าเสียหายหรือค่ใช้จ่าย ตามแต่กรณีและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด กำหนดบทยกเว้นความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจในกรณีที่ผู้บริโภคได้รู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่าสินค้ามีความชำรุดบกพร่อง เช่น กรณีนำมาขายลดราคา หรือเป็นสินค้าที่มาจากการขายทอดตลาดตามคำบังคับของศาล กำหนดบทสันนิษฐานความชำรุดบกพร่อง โดยหากสินค้าเสียหายภายใน 6 เดือน ให้สันนิษฐานว่าบกพร่องมาตั้งแต่ต้น กำหนดในเรื่องภาระการพิสูจน์ โดยผู้ประกอบธุรกิจจะต้องพิสูจน์ว่าสินค้าไม่ได้ชำรุดบกพร่อง กำหนดอายุความการใช้สิทธิเรียกร้อง 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ผู้บริโภคได้ทราบถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้า รวมทั้งกำหนดให้การใช้สิทธิเรียกร้องตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่กระทบต่อการใช้สิทธิตามกฎหมายอื่น

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ.... .. ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งอาจมีการแก้ไขหรือระบุรายละเอียดเพิ่มเติม แต่โดยหลักการแล้วกฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคในเรื่องความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้า ช่วยอุดช่องว่างของบทบัญญัติเรื่องความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคให้ชัดเจนขึ้น อันจะส่งผลให้คู่สัญญาสามารถปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาได้โดยสะดวก ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงกระบวนการเยียวยาความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเรียกร้องตามสิทธิ อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้จะพัฒนามาตรฐานคุณภาพสินค้าในภาพรวม โดยเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบธุรกิจมุ่งวิจัยและพัฒนาคุณภาพสินค้าชองตนรวมถึงพัฒนาคุณภาพการให้บริการหลังการขายเพื่อลดปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง ทำให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพ และนวัตกรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งการปรับตัวและการพัฒนาของผู้ประกอบธุรกิจ อันเนื่องมาจากมาตรการตามกฎหมายจะช่วยลดจำนวนสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าการแข่งขันในตลาดก็จะมุ่งไปสู่การแข่งขันด้านคุณภาพมากกว่าด้านราคาต่อไป

ภาพปก